ทีมข่าวคิดลึก กลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมาทันที เมื่อทั้ง "สองบิ๊กทหาร" ประสานเสียงปฏิเสธ "สูตรปรองดอง 66/23" ว่าเป็นสิ่งที่ตกยุคไปแล้ว ทำให้เกิดคำถามตามมาทันทีว่าเหตุใด "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่บัดนี้ได้รับความไว้วางใจให้เข้ามาสวมบท "มิสเตอร์ปรองดอง" กับ"บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงมีท่าทีเช่นดังกล่าว ! แน่นอนว่า "การตีความ" เกิดขึ้นตามมาทันที เพราะต้องไม่ลืมว่าเมื่อมีการพูดถึง "นโยบาย 66/23"ย่อมต้องระลึกด้วยว่า นี่คือสูตรการแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ของ "ป๋าเปรม" พล.อ.เปรม ติณสูลานนทประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่เคยใช้สูตรดังกล่าวแก้ไขปัญหาในอดีตจนสำเร็จมาแล้ว ทว่าในมุมมองของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้สะท้อนถึงความแตกต่างเหตุการณ์ในอดีต กับ "ความขัดแย้ง"ทางการเมืองที่เกิดขึ้นกินระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา "เรื่องนี้อยากให้ทุกคนกลับไปทบทวนให้ดี เพราะสูตรดังกล่าวเป็นคนละกรณีกันครั้งนี้เป็นเรื่องการต่อสู้กัน ซึ่งมีทั้งการใช้กำลัง การใช้อาวุธสงคราม แบ่งฝ่ายต่อสู้กันซึ่งเป็นคนละเรื่อง วันนี้เราไม่ได้แบ่งแบบนั้น สูตร 66/23 เป็นการนำคนกลับเข้ามาเพื่อเป็นกลุ่มพัฒนาชาติไทย แต่กรณีปัจจุบันมันเป็นคนละอย่าง และไม่ได้แบ่งกันเป็นคนละลัทธิ วันนี้อยู่ที่การจะทำให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้อย่างไร ด้วยกลไกปกติซึ่งมันต้องมีวิธีการ" (24 ม.ค.2560) ดังนั้นหมายความว่า หลักใหญ่ใจความ คือไม่ต้องการใช้สูตร "การเมืองนำการทหาร" ตามสูตร 66/23 ซึ่ง พล.อ.เปรม เคยนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาการรุกรานของคอมมิวนิสต์ในอดีต ฉะนั้นจะสะท้อนได้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้ว คสช. ต้องการใช้ "การทหารนำการเมือง" ใช่หรือไม่เพราะหากเป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุถึงความแตกต่างระหว่างปัญหาคอมมิวนิสต์ ในอดีตกับความขัดแย้งทางการเมือง ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า มีความต่างกันอย่างแท้จริงและไม่เช่นนั้นแล้ว คสช. คงไม่เลือกตั้ง "นายทหาร" เข้าไปเป็นกรรมการในชุดต่างๆ แม้ล่าสุด "พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล" ปลัดกระทรวงกลาโหม ออกมาเปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการให้ไปปรับแก้ไขบางส่วนของคณะกรรมการ โดยจะเน้นโครงสร้างให้มีนักวิชาการด้านพลเรือนทั้งสายนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รวมทั้งสายอื่นๆ ก็ตาม แต่โดยสาระสำคัญแล้ว ทหารยังคงเป็นผู้มีบทบาทมากที่สุดอยู่ดี อย่างไรก็ดี อีกมิติของการสร้างถนนสายปรองดองนั้น ยังต้องไม่ลืมว่า "ตัวละคร" ที่มีความสำคัญมากที่สุด คือ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ ในฐานะเจ้าของขั้วอำนาจเก่าตัวจริงเสียงจริงว่าเขาเองจะส่งสัญญาณในเกมปรองดองรอบนี้อย่างไร? เนื่องจากทั้งทักษิณ และ "น้องสาว" คือ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกฯ ซึ่งอยู่ในสถานะจำเลยคดีทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว อาจไม่ได้รับอานิสงส์ เรื่องนี้มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับพรรคการเมือง และกลุ่มเสื้อสีต่างๆ ด้วยเหตุที่ เมื่อในขั้นตอนต่อไป หากมีการพูดถึงเรื่องการนิรโทษกรรมขึ้นมาในภายหลังแล้ว คดีความที่พันอยู่กับทักษิณและยิ่งลักษณ์ จะไม่ได้ถูกให้เข้าอยู่ในข่ายที่ได้รับผลพวงในการถูกปลดล็อกไปด้วยแต่อย่างใด จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากการที่สองพี่น้อง ยืนอยู่นอกวงปรองดองนั่นเอง ! แต่กระนั้น คนที่อยู่นอกวงปรองดอง ทั้ง "ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ" กลับกลายเป็นตัวละครที่อาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลง มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง อย่างไม่ต้องสงสัย