การออกมาแถลงข่าว ของ "ธนวรรธน์ พลวิชัย" ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ครั้งล่าสุดเปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาชี้ว่าอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ15เดือน โดยมีเหตุผลสำคัญมาจากความกังวลต่อการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า การเมืองขาดเสถียรภาพ ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
" ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเดือนพ.ค.62 ซึ่งทำการสำรวจจากสมาชิกหอการค้าภูมิภาคทั่วประเทศ 370 ตัวอย่าง พบว่า อยู่ที่ระดับ 47.4 ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน ลดลงจาก 47.8 ในเดือนก่อนหน้านี้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3
โดยผู้ประกอบการทุกภูมิภาค รวมทั้งกรุงเทพฯ มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยลดลง โดยเหตุผลสำคัญมาจากความกังวลต่อการจัดตั้งรัฐบาล การเมืองขาดเสถียรภาพ ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น การส่งออกลดลง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ กดดันให้กำลังซื้อในภูมิภาคลดลง" ธนวัฒน์ ระบุตอนหนึ่งของการแถลงข่าว
เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ในภาวะไม่นิ่ง หน้าตาของคณะรัฐมนตรี "ประยุทธ์ 2/1" ยังไม่ปรากฎออกมาอย่างเป็นทางการ ย่อมส่งผลกระทบไปยังวงกว้าง โดยเฉพาะความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับการเมือง อย่างที่เห็น
แต่ถึงกระนั้นความจำเป็นที่ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบคุณสมบัติของบรรดา "ว่าที่รัฐมนตรี" อย่างละเอียด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเมื่อเปิดชื่อขึ้นมา ต่างต้องเจอกับ "เสียงยี้" ดังลั่น จนทำให้พล.อ.ประยุทธ์ เอง ต้อง "ตีกลับ" รายชื่อของแต่ละพรรค
เพราะไม่เช่นนั้น กระแสด้านลบจะเข้าถล่มลามมาถึงตัวพล.อ.ประยุทธ์ ทำให้การนั่งบริหารงานในฐานะผู้นำรัฐบาลสมัยที่สอง ไม่ราบรื่นตั้งแต่ยกแรก !
เวลานี้จึงดูเหมือนว่าบิ๊กตู่ โดนกดดัน บีบคั้นไปเสียทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ "7พรรคฝ่ายค้าน" เตรียมตั้งท่าใช้เวทีสภาผู้แทนฯ เขย่ารัฐบาล ด้วยการยื่นญัตติด่วน กันตั้งแต่วันแรกๆที่เปิดสมัยประชุม ขณะเดียวกันสาธารณะเองก็เรียกร้องให้เร่งตั้งรัฐบาลใหม่ เพื่อเดินหน้าทำงาน
แต่ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ และคสช.เองไม่อาจผลีผลาม ให้ "ไฟเขียว" ได้ทุกรายชื่อ "ว่าที่รัฐมนตรี" ที่ทั้งในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล เสนอเข้ามาได้ทุกคนแต่อย่างใด
ภายใต้ความล่าช้า เมื่อโฉมหน้าครม.ชุดใหญ่ "ประยุทธ์ 2/1" ยังไม่ปรากฎ จะยิ่งกลายเป็น "โอกาส" ที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาล ถูกโจมตีมากขึ้นเท่านั้น
อาการยึกยัก ติดกับตัวเองของพล.อ.ประยุทธ์ และคสช.เช่นนี้ กำลังสะท้อนให้เห็นถึง "ปัญหาภายใน" ทั้งพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ว่าการเจรจายังเดินไปไม่ถึง "บทสรุป" เนื่องจาก "คีย์แมน" แต่ละกลุ่มก๊วน ต่างอยู่บนผลประโยชน์ที่ยังไม่สามารถทำให้ทุกๆฝ่ายพึงพอใจได้ นั่นเอง งานนี้อย่าได้แปลกใจที่จะพบว่า บางครั้งพล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกโรง กำกับเอง และในบางคราว ต้องส่ง "มือทำงาน" ที่ไว้ใจได้ลงไปเคลียร์ เพื่อตัดสวิตช์แห่งความวุ่นวายโดยเร็วที่สุด ให้เสียหายน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ !