ทีมข่าวคิดลึก
สารพัดกลยุทธ์ที่ถูกนำมาปรับใช้เพื่อหาทางสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น ทั้งการชักชวนให้"นักการเมือง" หันหน้าเข้ามาพูดคุยกัน การเตรียมทำเอ็มโอยู ลงนามทำข้อตกลงว่าจะไม่มีอาการต่อต้าน เดินขบวนบนท้องถนนด้วยเรื่องอะไรบ้าง หรือแม้แต่การปลูก "บัวหลากสี" เพื่อสร้างสัญลักษณ์ เชิงปรองดองที่ทำเนียบรัฐบาล เอาเคล็ดก็ยังมี
แม้งานนี้ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาปฏิเสธชัดเจนว่า "ไม่เกี่ยวกัน" แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่วายเหน็บแนมฝากข้อคิดว่าด้วยการเป็นบัว เช่นใดจึงจะไม่กลายเป็นอาหารของเต่า ซึ่งหมายความว่า ต้องรู้จักการปรับตัว !
ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า เมื่อภายหลังจากที่รัฐบาลและ คสช. ส่งสัญญาณเชิญชวนให้ทุกฝ่ายมาร่วมสร้างความปรองดอง ได้ปรากฏความเคลื่อนไหวจากฝ่ายการเมืองอย่างคึกคัก ทั้งเห็นด้วย และต่อต้าน ตั้งแง่กับกองทัพและไม่เอาด้วยกับ คสช.
โดยเฉพาะท่าทีจากพรรคเพื่อไทย ที่มีความชัดเจน แม้จะดูขัดกัน ตรงกันข้ามกับ "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ" หรือ นปช. ที่ประกาศตัวพร้อมสนับสนุนขอร่วมวงปรองดองกับ คสช.ทั้งที่ก่อนหน้านี้ต่างเป็นไม้เบื่อไม้เมากับทหาร แสดงออกว่าต่อต้านกองทัพในทุกรูปแบบก็ตาม
ดังนั้นภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นในเวลานี้ สำหรับการก่อสร้างถนนสายปรองดอง ของ คสช. และรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายพร้อมด้วย "ข้อเสนอ" จากฝ่ายการเมือง ว่าต้องการหรือไม่ต้องการในประเด็นใดบ้าง
ด้วยท่าทีจากพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคการเมืองสองพรรคทั้ง "ประชาธิปัตย์" และ "เพื่อไทย"กำลังดำเนินไปด้วยความเข้มข้นแต่ขณะเดียวกัน ใช่ว่า ทางฟาก "เสื้อสี" ทั้ง "เสื้อแดง" ไปจนถึง"เสื้อหลากสี" อย่าง "กลุ่มกปปส." ของ "กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ" คสช.จะมองข้ามหรือ ประมาทไม่ได้ว่า "ทุกเสื้อสี" จะเอาด้วย เพราะแม้ล่าสุด "กำนันสุเทพ" จะออกมาพลิกมุม กลับหลังชนิด 360 องศาว่าตนเองนั้น พร้อมที่จะลงนามเอ็มโอยู ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยประกาศเอาไว้แล้วว่า จะไม่ลงนาม เพราะไม่เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้
"การลงนาม MOU นั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะเชื่อว่าเพียงแค่การลงนาม จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเพื่อความปรองดองได้อย่างแท้จริง ขอให้ความสำคัญเกี่ยวกับสาเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดความปรองดองมากกว่า
พร้อมยืนยันว่า ผมสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลและสนับสนุนให้มีการปฏิรูปประเทศให้สำเร็จเพราะทุกอย่างคืออนาคตของประเทศไทย ส่วนจะร่วมลงนามหรือไม่นั้นตนไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ เพราะจะต้องรอให้ทุกอย่างเกิดความชัดเจนก่อน" (24 ม.ค.2560) เพราะต้องไม่ลืมว่าในความเป็นจริงแล้ว แม้วันนี้สุเทพจะมีท่าทีที่อ่อนลงหรือการที่แกนนำนปช.ส่งสัญญาณพร้อมเข้าร่วมวงปรองดองแล้วก็ตาม ทว่าเมื่อวันนี้ เวลานี้ โรดแมป ของ คสช.ยังไม่ถึงจุดสิ้นสุดหรือยุติ โอกาสที่นักการเมือง กลุ่มเสื้อสี จะกลับ ลำด้วย "เงื่อนไข" บางสิ่งบางอย่างที่จะเกิดขึ้นจากนี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องยาก
โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยและนปช. ในฐานะเครือข่ายอำนาจเก่าของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯนั้นยังต้องหยุดเพื่อรอประเมินทิศทางลมทางการเมืองอีกครั้งว่าที่สุดแล้ว เกมปรองดอง คือเกมสุดท้ายแล้วหรือไม่ ?