เมื่อไม่ต้องวุ่นวาย ละล้าละลังอยู่กับการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี เพื่อตั้งคณะรัฐมนตรี "ประยุทธ์2/1" จึงทำให้ "7พรรคฝ่ายค้าน" มีเวลา มีจังหวะที่จะเปิด "เกมรุก" เข้าใส่ "กล่องดวงใจ" ของทั้งรัฐบาลและ "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือคสช. ชนิดที่เรียกว่าหวังยิงหมัดตรง ทิ้งหมัดหนัก กันเลยทีเดียว !
การเคลื่อนไหวด้วยการใช้กลไกในสภาผู้แทนราษฎร โดยแกนนำ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ได้ร่วมกันยื่นญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎร ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษา สอบสวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยจะให้มีการสอบใน4ประเด็นหลัก ประกอบด้วย
1.การได้มาซึ่ง ส.ว. มีคณะกรรมการสรรหาหรือไม่ มีการแต่งตั้งหรือไม่
2.คณะกรรมการสรรหาดังกล่าว มีวิธีการ กระบวนการสรรหาอย่างไร
3.ส.ว. หลายท่าน เป็นเครือญาติ พวกพ้อง ซึ่งได้มาโดยชอบหรือไม่
และ4.งบประมาณ 1,300 ล้านบาท นำไปใช้ตามระเบียบวิธีการ และกฎหมายหรือไม่
" การได้มาซึ่ง ส.ว. ว่ามีกระบวนการสรรหาที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะกำลังเป็นที่สงสัยของสาธารณชน มีการตั้งคำถามตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ลงคะแนนเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ว่าขัดรัฐธรรมนูญ หรือมีความโปร่งใส มาโดยตลอด ไม่เคยเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา และเผยแพร่ลงพระราชกิจจานุเบกษา รวมทั้งกรรมการสรรหาทั้ง 10 คนใน คสช. และมี 6 ท่าน ก็ไปเป็น ส.ว.เองด้วย จึงเห็นว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ" ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ระบุตอนหนึ่งของการแถลงข่าว
แน่นอนว่า การเปิดเกมรุกของ7พรรคฝ่ายค้าน ในรูปการณ์นี้ มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการให้กระทบไปยัง "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. รวมทั้ง "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาสว.
แต่ดูเหมือนว่าเกมของพรรคฝ่ายที่ต้องการดึง ทั้ง บิ๊กตู่และบิ๊กป้อม ให้ลงมาเล่นในสนามที่ไม่เจนจัด อาจไม่ใช่เรื่องง่ายดาย เพราะต้องไม่ลืมว่า คสช.มี "ตัวเล่น" ที่จะทำหน้าที่ "รับมือ" ได้ดีกว่า โดยที่ทั้งสองคนไม่จำเป็นต้องเปลืองตัวลงมาเล่นเองแต่อย่างใด
หากสดับรับฟังทั้งสุ้มเสียงและท่าทีจาก "พรเพชร วิชิตชลชัย" ประธานวุฒิสภา ที่กลับมารับตำแหน่งเดิมเป็นรอบที่สองแล้ว จะพบว่า พรเพชร บอกชัดเจนว่า หากใครจะตรวจสอบคุณสมบัติของสว.ต้องไปใช้ช่องทางอื่น ซึ่งไม่ใช่การอภิปรายกันในสภาฯ
"หากบุคคลใดต้องการจะตรวจสอบคุณสมบัติของส.ว.ก็คงจะต้องใช้ช่องทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่การอภิปรายในสภาฯ ซึ่งจะใช้ช่องทางไหนนั้นมี แต่ตนไม่บอก แต่หากส.ว.ต้องการที่จะตรวจสอบกันเองนั้นสามารถใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 โดยลงชื่อและยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้" (19 มิ.ย.2562)
เช่นเดียวกับการที่ "มือกฎหมายรัฐบาล" อย่าง "วิษณุ เครืองาม" รองนายกฯ สวนหมัดกลับว่า ตนเองพร้อมไปชี้แจงในสภาฯ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับว่าประธานสภาฯจะวินิจฉัยให้ไปชี้แจงหรือไม่ แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ วิษณุ บอกเลยว่า ฝ่ายที่ยื่นญัตติต้องการให้ " 2ป."ไปชี้แจง
" อยู่ที่ประธานจะวินิจฉัยอย่างไร ถ้าวินิจฉัยว่าผมเป็นคนนอก ไม่มีสิทธิ์มาชี้แจงแทน ผมก็พูดอะไรไม่ได้ แต่ก็เห็นเขาตั้งท่าจะไม่ให้ผมชี้แจง เขาต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ชี้แจงไม่ใช่หรือ" (19มิ.ย.2562)
และอย่าลืมว่า ยังมีอีกด่านที่สำคัญ นั่นคือ "ประธานสภาฯ"ที่ชื่อ "ชวน หลีกภัย" จะวินิจฉัยอย่างไร สำหรับญัตติร้อนๆ ทีจ้องเขย่า "บิ๊กป้อม-บิ๊กตู่" แต่ละด่านที่ 7พรรคฝ่ายค้าน ต้องฝ่าออกไป เพื่อดึง "2ป." ให้ลงมาในเวทีสภาฯ บอกเลยว่า ไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปากแน่นอน !