ทองแถม นาถจำนง วัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นวัดสำคัญมาตั้งแต่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่สาม ทรงสร้างให้เป็นแหล่งวิทยาการประมวลความรู้ด้านต่าง ๆ มารวมไว้ภายในวัด จนยุคหลังต่อมายกย่องว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของเมืองไทย เรื่องราวเกี่ยวกับวัดโพธิ์จากข้อเขียนของ พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ชิ้นนี้ ข้าพเจ้าได้จากหนังสืองานศพ ในหนังสือนั้นบอกแต่เพียงว่านำมาจากคอลัมน์ “ซอยสวนพลู” ไม่ระบุวันที่ลงพิมพ์ใน “สยามรัฐ” ไว้ เนื้อความดังต่อไปนี้ครับ “พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณเทพโมลี ได้กรุณามาเยี่ยมผม และออกปากชวนให้ผมไปเที่ยววัดโพธิ์บ้าง วัดโพธิ์ในที่นี้หมายถึงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงสร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ อยู่ติดกับพระบรมมหาราชวังเพียงมีถนนคั่นอยู่สายเดียว ถึงวันที่ 11 เมษายน อากาศร้อนถูกเทศกาลสงกรานต์ ผมก็ไปไหว้พระที่วัดโพธิ์ ที่ไปไหว้พระวัดโพธิ์ในยามสงกรานต์นี้ อาจเป็นเพราะอะไรที่ฝังอยู่ในใจผมมาตั้งแต่เด็กก็ได้ เพราะเมื่อผมยังเด็กเล็ก ๆ ผมเคยไปเที่ยวงานไหว้พระนอนที่วัดโพธิ์ทุกปีไม่เคยขาด แต่เดี๋ยวนี้ดูเหมือนจะไม่มีงานนั้นแล้ว สำหรับเด็ก งานวัดอย่างวัดโพธิ์สนุกมาก มีร้านขายของเล่นเด็กเป็นจำนวนมากมาย ประเภทหอกดาบทวนทำด้วยกระดาษ ลูกโป่งสีต่าง ๆ อัดแก๊ซให้ลอยได้ แล้วก็หลุดมือลอยขึ้นฟ้าไป แล้วก็ร้องให้ผู้ใหญ่ที่ไปด้วยซื้อให้ใหม่ได้ ซึ่งผู้ใหญ่ก็มักจะซื้อให้ เป็นการซื้อความรำคาญ ผู้ใหญ่มักไม่รู้หรอกว่า เหตุที่ลูกโป่งหลุดมือลอยขึ้นฟ้านั้น เป็นเพราะเด็กที่ถือลูกโป่งแกล้งทำหลุด เพราะอยากจะดูลูกโป่งว่ามันจะลอยขึ้นสูงแค่ไหนและลอยไปทางไหน อย่างไรก็ตาม วัดโพธิ์ยังติดอยู่ในใจผมในลักษณะเช่นนี้ ทั้งที่วัดโพธิ์ในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปในความเห็นของคนเป็นอย่างมาก ทุกวันนี้ วัดโพธิ์เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีศิลปวัตถุและสถาปัตยกรรมที่ต้องอนุรักษ์ทั้งวัด เพราะหาที่ไหนเปรียบไม่ได้ในโลกนี้ เป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกในประเทศไทย และเป็นโรงเรียนสอนหมอนวดแผนโบราณ ภาระเรื่องการอนุรักษ์วัดโพธิ์จึงเป็นภาระหนักของผู้ที่รับผิดชอบ ตั้งแต่รัฐบาลลงมาจนถึงเจ้าอาวาสวัดโพธิ์และพระภิกษุสงฆ์แห่งวัดนั้น คลอจนทายกทายิกาที่ทำบุญและฟังธรรมที่วัดโพธิ์ และภาระนี้มิใช่ภาระเล็กน้อย เพราะวัดโพธิ์นั้นเป็นวัดใหญ่เหลือเกิน ทุกซอกทุกมุมมีแต่ของที่ควรบูรณะและอนุรักษ์ไว้ทั้งนั้น สุนทรภู่เคยเขียนนิราศไว้ว่า “ถึงวัดโพธิ์โอ้เป็นวัดกษัตริย์สร้างไม่เคยร้างรุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์” สุนทรภู่เขียนนิราศนี้ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กลอนของท่านจึงตรงต่อความจริงทั้งคำกลอน เพราะยุคนั้นเป็นยุคที่วัดวาอารามรุ่งเรืองมาก แต่ในยุคต่อมา กลอนสุนทรภู่เหลือความจริงเพียงบาทเดียว ตอนที่ว่า วัดโพธิ์เป็นวัดกษัตริย์สร้าง ที่ว่าไม่ร้างรุ่งเรือง ต่อมามีท่าว่าจะไม่จริง เพราะในระยะ 30 หรือ 40 ปีมาแล้วนี้ วัดโพธิ์ได้โรยร้างทรุดโทรมลงอย่างน่าวิตกมากทีเดียว เดชะบุญที่พระวัดโพธิ์อันมีสมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริ) เป็นอธิบดีสงฆ์ ท่านเอาจริงไม่ปล่อยเลยตามเลย แต่ได้ใช้ความอุตสาหะหาทุนหารายได้มาซ่อมแปลงวัด พอจะดับความทรุดโทรมไปได้สักพักหนึ่ง เมื่อฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ก็ได้มีการซ่อมวัดโพธิ์อีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นการซ่อมภายนอกของอาคาร มิได้ซ่อมภายใน เมื่อวันที่ผมไปไหว้พระวัดโพธิ์คราวนี้ เห็นมีการซ่อมและอนุรักษ์ศิลปวัตถุภายในโบสถ์วิหารต่าง ๆ อยู่ ไต่ถามได้ความว่ากรมศิลปากรเป็นผู้เข้ามาทำ........... ในการสร้างวัดโพธิ์นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ มิได้ทรงใช้แรงงานที่เกณฑ์เอามา เพราะทรงเห็นว่าการสร้างวัดโพธิ์เป็นพระราชกุศลส่วนพระองค์ มิได้เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน จึงทรงจ้างคนงานมาทำการก่อสร้างและตกแต่งจนเสร็จ การจ้างนั้นก็ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ มิได้ทรงใช้เงินแผ่นดิน การบูรณะและอนุรักษ์วัดโพธิ์ครั้งนี้ สังเกตดูกรมศิลปากรออกจะระมัดระวังกว่าที่เคยเห็นมาในงานอื่น ๆ ภาพผนังและภาพบนบานประตูนั้นเห็นหลายแห่งที่ใช้ล้างเอาตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ หมายความว่าล้างเอาฝุ่นละอองและความชื้นที่จับเกรอะกรังมาเป็นศตวรรษนั้นออก จนเหลือแต่ภาพที่ศิลปินเขียนไว้เดิมเท่านั้น เห็นแล้วประทับใจในสีอันสดใสของภาพ งานปูนก็ทำอย่างระมัดระวัง ใช้ปูนแบบโบราณที่เรียกว่าปูนเพชร เข้าซ่อมให้กลมกลืนกับของเก่า ไม่ใช่ปูนซีเมนต์ซึ่งจะเข้ากับของเดิมไม่ได้สนิท ปูนเพชรคือปูนขาวผสมทรายและน้ำอ้อย ทำให้แข็งขึ้นจึงเรียกว่าปูนเพชร ถ้าจะเอาปูนนี้ปั้นรูปคน เช่นขุนแผนปั้นรูปลาวทอง ก็เอาหนังวัวหนังควายเคี่ยวเป็นกาวใส่ลงไปด้วย ทำให้ปูนมีความอ่อนละไม (Plasticity) ปั้นรูปได้สะดวก และเมื่อแห้งแล้วก็แข็งทนทานยิ่งขึ้นไป ครับไปวัดโพธิ์ได้ไหว้พระ ได้ปิดทองพระนอน ได้สนทนากบพระที่ท่านมีเมตตา ได้รับความสบายใจมาก”