หนุ่มผู้นิยมรสชาติเบียร์ ค้นคว้าทดลองหมักจนพอใจในรสชาติ นำออกขายวันเดียวก็ถูกสรรพสามิตจับกุม ศาลตัดสินปรับ ส่วนโทษจำคุกสองเดือนให้รอลงอาญา การผลิตเบียร์หมักดองจากจุลินทรีย์ ควรจะนับเป็นเศรษฐกิจชีวภาพชนิดหนึ่ง “เศรษฐกิจชีวภาพ Bioeconomy” เป็นสายเศรษฐกิจที่มีอนาคตทำกำไรสูง รัฐบาลไทยจึงมีอภิโครงการสร้าง Bioeconomy hub ลงทุนถึงสี่แสนล้านบาท มีการประกาศเจตนารมณ์นี้อย่างยิ่งใหญ่ การประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ภายใต้โครงการสานพลังงานประชารัฐด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เป็นความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาและวิจัยในการสร้าง Bioeconomy เศรษฐกิจลูกใหม่ตามนโยบายประชารัฐ สู่การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม New S-Curve ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยใช้พืชเศรษฐกิจที่ไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว เช่น มันสำปะหลัง และอ้อย เป็นพืชนำร่อง เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง (Biorefinery) โครงการเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ประกอบด้วยภาคเกษตรกรรม และ 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ (1) พลังงานชีวภาพ (2) ชีวเคมีภัณฑ์ (3) อาหารแห่งอนาคต (4) อาหารสัตว์แห่งอนาคต และ (5) ชีวเภสัชภัณฑ์ แผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนา Bioeconomy ในระยะเวลา 10 ปี มีกรอบการลงทุนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2560-2561 เงินลงทุนประมาณ 51,000 ล้านบาท เพื่อต่อยอดการพัฒนาพลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ อาหาร และชีวเภสัชภัณฑ์ ผลักดันการสร้างอุปสงค์และตลาด ระยะที่ 2 ปี 2562-2564 เงินลงทุนประมาณ 182,000 ล้านบาท เพื่อสร้าง Biorefinery Complexes ที่ครบวงจร และเมืองใหม่บนเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมอย่างครบวงจร Biopolis และระยะที่ 3 ปี 2565-2569 เม็ดเงินลงทุนประมาณ 132,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับสู่ Regional Hub เป็นต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และนำไทยก้าวขึ้นเป็น Bio Hub ของโลก อภิโครงการนี้คงจะไม่ทอดทิ้งธุรกิจ SME เพราะกระทรวงวิทยาศาสตร์แถลงว่า เศรษฐกิจชีวภาพ” เป็นทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งอนาคต นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบชีวภาพและทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่มากของแต่ละประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมให้การสนับสนุนทุกด้าน ทั้งร่วมวิจัยพัฒนาและการให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น เมืองอุตสาหกรรมอาหาร (Food Innopolis) มีศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์ (Food Feed Innovation Center) ที่เป็น One-Stop Service ส่งเสริมให้ SMEs ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ผลงานค้นคว้าการผลิตเบียร์ในครัวเรือน (craft beer) จะต้องปราบปรามต่อไปหิ้นซาก เพราะกฏหมาย “ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องวิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ. 2543” ส่วนที่ 2 เรื่องการทำและขายส่งสุราแช่ชนิดเบียร์และชนิดสุราผลไม้ ระบุว่า “ข้อ 7.1 เรื่องการขออนุญาตทำและขายส่งสุราแช่ชนิดเบียร์ บัญญัติไว้ว่าผู้ผลิตเบียร์จำหน่ายจะต้องเป็นบริษัทจำกัด ที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท โรงงานขนาดใหญ่จะต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี ส่วนโรงงานเบียร์ขนาดเล็กประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต จะต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี” เห็นได้ชัดว่า วิสาหกิจชุมชนผลิตเบียร์ในครัวเรือน ไม่มีทางได้ผุดได้เกิดในประเทศนี้