ในห้วงเวลาที่โผคณะรัฐมนตรียังเขย่าไม่หยุดนี้ กระแสสังคมกดดันให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล้าตัดสินใจตัดรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมเป็นรัฐมนตรีออกไป โดยไม่คำนึงถึงการเมือง
โดยเฉพาะกรณีที่มีว่าที่รัฐมนตรีบางราย มีปัญหาถูกร้องเรียนกรณีทุจริตคอร์รัปชันค้างอยู่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช.
อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของคณะรัฐมนตรีมีผลต่อความศรัทธาของประชาชน ในขณะเดียวกันที่ผ่านมานโยบด้านการต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคการเมืองต่างๆ มีการนำเสนอน้อยมาก ในขณะที่การกลับเข้ามาของนักการเมืองรุ่นเก่า ทำให้ถูกจับตาปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ประกอบการแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรีถูกมองว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์
กระนั้น นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่าก่อนที่รัฐบาลจะแถลงนโยบายพัฒนาประเทศต่อสาธารณชนในด้านต่างๆ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ได้รวบรวมความคิดเห็นของประชาชนและทบทวนงานที่ภาคส่วนต่างๆ ได้ขับเคลื่อนตลอดมา เพื่อกำหนดเป็นข้อเสนอถึงรัฐบาลชุดใหม่ รับไปเป็นนโยบายด้านการต่อต้านคอร์รัปชันและการสร้างเสริมระบบธรรมาภิบาล ให้สอดคล้องกับเสียงเรียกร้องของประชาชน ใน6 วาระสำคัญดังนี้
(1) รับฟังเสียงประชาชน ปกป้องและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
(2) เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้อำนาจในการบริหาร ที่ประชาชนเข้าถึงง่ายเพื่อมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบ ซึ่งจะช่วยสร้างความไว้วางใจจากประชาชน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความโปร่งใสและแสดงถึงการมีธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ
(3) กำกับดูแลคนในพรรคร่วมรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ไม่ให้มีพฤติกรรมฉ้อฉล คดโกง และมีมาตรการลงโทษ ถอดถอนอย่างชัดเจน หากมีปัญหาส่อเค้าไปในทางทุจริตควรแก้ไขโดยพลัน
(4) สนับสนุนให้องค์กรตรวจสอบ เช่น ป.ป.ช. ได้ทำงานอย่างเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง
(5) การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการควรมีความโปร่งใส เป็นธรรม มีหลักการเหตุผลชัดเจน ไม่เห็นแก่พวกพ้อง
(6) สร้างความต่อเนื่องและการบังคับใช้ข้อกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติสำคัญต่างๆ อย่างเข้มข้น เช่น พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตอนุมัติของทางราชการฯ ข้อตกลงคุณธรรม รวมทั้งลดทอนกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่ล้าสมัยและก่อให้เกิดเรียกรับสินบน
ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ยังกล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากข้อเสนอผ่านกลไกการบริหารประเทศดังกล่าวแล้ว ยังมีกลไกรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลการทำงานของรัฐบาลให้เกิดธรรมาภิบาล โดยเฉพาะบทบาทของฝ่ายค้านในสภาผู้แทนฯ จะต้องมีหน้าที่ช่วยตรวจสอบการทำงานของฝ่ายรัฐบาลอย่างเข้มข้น ตรงไปตรงมา เพราะทั้งสองฝ่ายต่างถือเป็นตัวแทนประชาชนและต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของการเมืองที่มีธรรมาภิบาล
เราขอสนับสนุนข้อเรียกร้องขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และขอให้รัฐบาลดำเนินการประกาศนฌโยบายด้านการต่อต้านการต่อต้านคอร์รัปชันและการสร้างเสริมระบบธรรมาภิบาล