แสงไทย เค้าภูไทย ปาล์มดิบราคาถูก น้ำมันปาล์มขวดขายถูกตามต้นทุน แต่รัฐบาลกลับบังคับไม่ให้ลดราคา อ้างว่าไปกดราคาซื้อปาล์มดิบ แต่คนปลายน้ำคือผู้บริโภคต้องกินของแพง เดือดร้อน ทั้งคนขาย คนกิน ตามปกติราคาน้ำมันปาล์มปรุงอาหารมีกลไกราคาของตนเองอยู่แล้ว โดยต้นทุนสำคัญที่สุดคือเนื้อปาล์มที่นำมาสกัดเป็นน้ำมันบริสุทธิ์ สกัดเอาสีออกจนใสเป็นน้ำมันปรุงอาหาร ผลพลอยได้หลังการสกัดเอาน้ำมันก็คือกรดไขมัน ที่นำไปผสมกับแอลกอฮอล์จุดไฟ ( methanol) เป็น methyl ester หรือไบโอดีเเซล และผลิตภัณฑ์อื่นๆเช่น นมข้น เนยเทียม ครีมเทียม สบู่ ผงซักฟอก เทียนไข ขี้ผึ้ง ไอศครีม ฯลฯ น้ำมันปาล์มปรุงอาหารขนาดขวด 1 ลิตรที่กรมการค้าภายในไปบังคับให้ห้างร้านค้าขายในราคา 34 บาทนั้น ใช้ปาล์มดิบมาสกัดสัดส่วน 5.88 ก.ก. ต่อขวด เมื่อ สัปดาห์ที่แล้วและตั้งแต่ต้นปีมา ราคาปาล์มดิบที่ใช้ทำน้ำมันปาล์มชนิดให้น้ำมัน 17% ราคาอยู่ที่ 1.60-1.80 บาท บรรดาสื่อมวลชนลงข่าวกันเป็นระยะๆว่า เป็นราคาถูกที่สุดในรอบ 17 ปีบ้าง 20 ปีบ้าง ถ้าคิดตามราคาปาล์มในช่วงขายขวดละ 24 บาท ต้นทุนเนื้อปาล์มตกขวดละ 9.40 บาท (5.88x 1.60) หรือ 10.58 บาท( 5.88 x 1.80) ต้นทุนด้านอื่นๆเช่นภาชนะบรรจุ(ขวด) ค่าขนส่ง ค่าแรง โสหุ้ยในโรงงาน ส่วนกำไรของผู้ค้าส่ง ค้าปลีก ฯลฯ รวมๆกันแล้ว ขวดละ 20 บาท นอกจากนี้ โรงงานน้ำมันปรุงอาหาร ยังได้ผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันบริสุทธิ์เป็นกรดไขมันอีก นำไปถัวเฉลี่ยลดต้นทุน น่าจะเหลือราว 16-18 บาท ค้าปลีกตั้งราคาขายที่ 24 บาท จะได้กำไร 6-8 บาทต่อขวด จะถือว่าขาดทุนไหม ? แต่กรมการค้าภายในบอกว่าขาดทุน ห้ามขายต่ำกว่า 34 บาท ไม่งั้นจะเข้าข่ายทุ่มตลาดตัดราคา ร้านค้าปลีกใช่ว่าจะชอบใจ เพราะมันทำให้พวกเขาขายได้น้อยลง ชาวสวนปาล์มก็ไม่สบายใจ เพราะทอดอีกสักระยะ จะมีการซื้อเข้าโรงงานน้อยลง ตามยอดขายที่ลดลงจากราคาที่บังคับให้ขาย สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปาล์มดิบราคาดี ตกกิโลกรัมละ 4.65-9.14 บาท ต้นทุนผลิตต่อขวดลิตร 37.18 บาท กรมการค้าภายในบังคับให้ขายราคาไม่เกินขวดละ 38 บาท ส่วนต่างจากต้นทุนแค่ขวดละ 82 สตางค์ ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ร้านชำ แบ่งกันใน 82 สตางค์ ถามว่าอยู่กันได้ไหม ? ในที่สุดก็ต้องขยับราคาควบคุมให้เป็นขวดละ 47 บาท นี่เป็นตัวอย่างของการแทรกแซงราคาที่ไม่สอดคล้องกับกลไกตลาด วันนี้มาอีกล้ว กรมการค้าภายในเจ้าเก่า แทรกแซงราคา แต่ครั้งนั้นกลับหัวกลับหาง คือเป็นการแทรกแแซงที่ราคาขาลง อาจจะแก้ตัวว่า พอประกาศห้ามขายราคาต่ำกว่า 34 บาทปั๊บราคาปาล์มกระเตื้องขึ้นมาทันที เป็น 3.04 บาทต่อกิโลกรัม แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นการแทรกแซงเชิงจิตวิทยา ทำให้ตลาดรับซื้อขยับราคาตามราคาน้ำมันปาล์มที่ถูกบังคับราคาขาย นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.)เข้าซื้อปาล์มจำนวน 50,000 ตันงวดแรก จาก 4 งวดเพื่อใช้ในการผสมไบโอดีเซลเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า แต่คงจะดูดซับปริมาณสำรอง ได้ไม่มากนัก เพราะยังมีในสต็อคค้างอยู่อีกกว่า 300,000 ตัน และเดือนกรกฎาคมจะมีปาล์มฤดูใหม่ออกมาอีก แต่เมื่อราคขายปลีกขยับเป็น 34 บาท ถามว่า จะขายได้จำนวนเท่าที่ขายขวดละ 24 ไหม ? เมื่อขายได้น้อยลง ก็ผลิตลดลง ซื้อปาล์มน้อยลง โรงงานสกัดปาล์มดิบเป็นน้ำมัน ป้อนโรงงานน้ำมันปรุงอาหารและผลิตภัณฑ์ต่างๆกว่า 100 แห่งปิดตัวเองไปแล้วกว่าครึ่ง โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มส่วนที่เหลือผลิตได้แค่ 40-50% ของกำลังผลิตเท่านั้น การที่กรมการค้าภายในเข้าไปแทรกแซงราคาเช่นนี้ จะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ปาล์มหนักเข้าไปอีก ทั้งๆที่ไม่มีความจำเป็นอันใด ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดธรรมดาๆ เป็นกลไกดีมานด์-ซัพพลาย เมื่อของถูก คนก็กิน ก็ใช้ ซื้อเพิ่มขึ้น แต่พอแพง ก็ลดลง ลำพังการบริโภคในครัวเรือนนั้น ไม่ค่อยเดือดร้อน เพราะน้ำมันแพงขึ้น ก็ลดการปรุงอาหารประเภททอดลง แต่ที่เดือดร้อนก็คือ พวกร้านอาหาร พวกขายของทอด ตั้งแต่กล้วยแขก ไปยันไก่ทอด ปาท่องโก๋ ร้านก๋วยเตี๋ย ว ร้านข้าวแกง ก็คงต้องลดปริมาณลง ลดขนาดต่อจานลง จนคนกินกินไม่อิ่ม อาจจะต้องเพิ่มอีกจาน ผู้บริโภคที่ส่วนใหญ่เป็นคนจน ปากเดียวท้องเดียว ฝากท้องไว้กับร้านข้าวแกง ร้านก๋วยเตี๋ยว เดือดร้อนกันทั้งนั้น ไม่ได้ช่วยให้ชาวสวนปาล์มขายปาล์มได้มากขึ้น หรือราคาดีขึ้น ซ้ำทำให้คนกิน คนใช้น้ำมันปาล์มเดือดร้อน อย่างนี้ ถือว่ารังแกคนจนไหม ?