ทวี สุรฤทธิกุล สงครามการเมืองระหว่างวัยคือ “เด็ก” รบกับ “ผู้ใหญ่” “สงครามการเมือง” มีหลายรูปแบบ หลักๆ ก็คือการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง “อำนาจ” หรือ “ความเป็นใหญ่” แต่ที่แยกย่อยออกไปก็คือ “รูปแบบของการต่อสู้” ถ้าเป็นในสมัยโบราณก็จะสู้กันด้วย “กำลัง” เพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ ได้แก่ การขยายอาณาเขต การปกป้องอาณาประชาราษฎร รวมถึงการรักษาอำนาจของผู้ปกครองนั้นเอง ต่อมาเมื่อระบบรัฐหรือความเป็นประเทศค่อนข้างมีความมั่นคง คือแต่ละประเทศมีประชากรและอาณาเขตชัดเจนแล้ว ก็เกิดการต่อสู้ทาง “อุดมการณ์” คือต่อสู้ว่า “การปกครองของใคร แบบไหน ดีกว่ากัน” ตัวอย่างเช่น การต่อสู้ระหว่างเสรีนิยมกับสังคมนิยม จนกระทั่งกลายเป็นสงครามเย็นระหว่างค่ายประชาธิปไตยกับค่ายคอมมิวนิสต์ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น นอกจากนี้ยังมีการต่อสู้กันในเรื่องเชื้อชาติและศาสนา ดังที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วไปในหลายๆ ภูมิภาคของโลก รวมถึงที่ประเทศไทยดังที่กำลังมีอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันการต่อสู้ทางการเมืองจะมุ่งเน้น “ผลประโยชน์แห่งชาติ” แล้วแต่ว่าประเทศนั้นๆ จะเห็นว่าเรื่องอะไรที่ผลประโยชน์สำคัญสำหรับประเทศตน ดังเช่นที่เราเห็นการรบกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่พยายามจะเอาชนะกันว่าใครจะได้เปรียบทางการค้ามากกว่ากัน ซึ่งถ้าจะพิจารณาให้ลึกๆ แล้ว กลายเป็นว่ายังมีผลประโยชน์ “แอบซ่อน” อยู่อีกมาก โดยเฉพาะ “ศักดิ์ศรี” หรือเกียรติภูมิของชาติ ที่ทั้งสหรัฐและจีนก็ถือตนเองว่า “ข้าใหญ่” หรือเป็นมหาอำนาจของโลก ซึ่งในอดีตแข่งขันกันด้วยศักยภาพหรือขนาดของกำลังกองทัพและอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ในปัจจุบันนี้กลายเป็นการต่อสู้กันเพื่อช่วงชิงเทคโนโลยี หรือ “อำนาจความยิ่งใหญ่” ในเรื่องความเจริญก้าวหน้า นั่นคือวิวัฒนาการในรูปแบบของสงครามการเมืองในระดับนานาชาติ แต่ในระดับประเทศก็มีวิวัฒนาการที่ไม่แตกต่างกัน อย่างในกรณีของประเทศไทย ว่ากันว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คือการต่อสู้กันระหว่าง “ขุนนางในระบบใหม่” คือ “คณะราษฎร” กับ “ขุนนางในระบบเก่า” คือบรรดาเจ้าขุนมูลนายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่ปกครองประเทศมาแต่เดิม โดยแฝงไว้ด้วยการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ ที่ประโลมใจประชาชนว่า “จะนำโลกพระศรีอาริย์มาสู่คนไทย” แต่ว่าเอาเข้าจริงๆ คณะราษฎรก็ไม่ได้มุ่งพาคนไทยไปสู่สังคมในอุดมคตินั้นอย่างจริงจัง แต่กลับต้อง "เฝ้าระวัง" คือรักษาอำนาจของคณะราษฎรนั้นไม่ให้ใครเข้ามาแทรกแซง ที่สุดคณะราษฎรก็แตกกันเองเพราะหวาดระแวงและไม่ไว้ใจกัน สุดท้ายทหารก็ยึดครองอำนาจได้ทั้งหมด ตั้งแต่ พ.ศ. 2490 – 2516 แล้วมาถูกขบวนการนักศึกษาและปัญญาชนขับไล่ออกไปในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งนักศึกษาและปัญญาชนก็ได้ชูอุดมการณ์ “สังคมนิยม” ขึ้นมาอย่างหึกเหิม กระทั่งเป็นเป้าให้ฝ่ายทหารปลุกระดมประชาชนอีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมาต่อต้าน และยึดอำนาจคืนได้ในการรัฐประหารวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผู้เขียนมองย้อนไปในการเมืองไทยในช่วง พ.ศ. 2516 ถึง 2519 แล้วก็ทำให้นึกถึงการเมืองไทยในทุกวันนี้ เพราะ “การก่อตัวและความเป็นไป” มีความเหมือนกันอยู่ค่อนข้างมาก เริ่มต้นสาเหตุที่ทำให้ขบวนการนักศึกษาและปัญญาชนเกิดการรวมตัวกันและมีความเข้มแข็งในเวลาที่รวดเร็วก็คือ “ความเบื่อหน่าย” ต่อการปกครองภายใต้เผด็จการ “ถนอม-ประภาส” เกิดการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ กระทั่งมีการรวมตัวกันในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วเดินขบวนออกมาตามถนนราชดำเนินในวันที่ 13 ไปสิ้นสุดที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน กระทั่งเกิดจลาจลขึ้นในเช้าวันที่ 14 ไปจนถึงค่ำ กระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ต้องมีพระราชดำรัส “สงบศึก” แต่ว่าภายหลังจากนั้นนิสิตนักศึกษาและนักเรียนก็เหมือนจะอยู่ใน “โลกใหม่” ใช้เสรีภาพกันเกินขอบเขต มีความวุ่นวายอยู่ทั่วไป ถึงขั้นจะมีการล้มล้างสถาบัน จึงถูกทหารเข้าปราบปรามในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ดังกล่าว ผู้เขียนก็เป็น “ผู้คนร่วมสมัย” ในยุคนั้น ทั้งออกไปร่วมเดินขบวนในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 และ “การใช้เสรีภาพอย่างวุ่นวาย” ในโรงเรียนในช่วงหลังจากนั้น จนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัยในปี 2519 ที่หลังวันที่ 6 ตุลาคม ทุกอย่างก็อยู่ในความเงียบสงบเพราะความหวาดกลัว กระทั่งจบออกมาทำงานใน พ.ศ. 2523 โดยตัวผู้เขียนได้ทำงานเป็นเลขานุการของหัวหน้าพรรคกิจสังคม คือท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ได้ “เข้าใจ” ปัญหาการเมืองไทยในอีกมิติหนึ่ง ที่ทำให้ทราบว่าการเมืองไทยไม่ใช่เวทีการต่อสู้ของคนทั่วไป แต่จะต้องเป็นคนที่มีคุณสมบัติ 1 ใน 3 อย่างนี้ คือ “ เงิน หรือบารมี หรือเล่ห์เหลี่ยม” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ชี้ให้เห็นว่า ทำไมขบวนการนักศึกษาปัญญาชนและคนหนุ่มสาวจึงเอาชนะในทางการเมืองได้ยาก เหตุผลประการสำคัญก็คือคนรุ่นใหม่ขาดปัจจัย “เงิน บารมี และเล่ห์เหลี่ยม” ที่ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ต้องใช้ “เวลา” สร้างขึ้น คนรุ่นใหม่บางคนอาจจะร่ำรวยเพราะมีเงินจากพ่อแม่หาไว้ให้ แต่บารมีนั้นไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันสองวัน แต่โดยทั่วไปต้องใช้เวลาเป็นปีหรือหลายๆ ปี ยิ่งเรื่องของเล่ห์เหลี่ยมแล้วก็เป็นเรื่องของ “ความสามารถเฉพาะตัว” ที่ต้องใช้เวลา “ฝึกฝน” นั่นก็คือประสบการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ แต่ว่าเล่ห์เหลี่ยมนี้อาจจะมีการสร้างขึ้นได้โดยทางลัด คือการเลียนแบบหรือเอาอย่างพวกนักการเมืองรุ่นเก่าๆ นั่นเอง วันก่อนได้ฟังคำให้สัมภาษณ์ทางวิทยุโดยอาจารย์ในมหาวิทยาลัยย่านถนนเสรีไทยท่านหนึ่ง ท่านบอกว่าท่านไม่เชื่อว่าขบวนการคนรุ่นใหม่ที่กำลังก่อตัวผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่น่าจะ “โค่นล้ม” กลุ่มอำนาจเก่าคือทหารและนักการเมืองที่กำลังสืบทอดอำนาจนี้ได้ เพราะคนรุ่นใหม่พวกนี้เป็นแค่ “นักเลงคีบอร์ด” ไม่กล้าออกมารวมตัวกันตามท้องถนน รวมทั้งที่กลุ่มนักการเมืองของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็กำลังถูกกำจัดให้ออกไป ท่านจึงเชื่อว่าคณะทหารนี้จะปกครองประเทศได้อีกนาน ฟังแล้วก็ “หดหู่” พอสมควร แน่นอนว่า “สงครามการเมืองระหว่างวัย” ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับสังคมของทุกประเทศ ซึ่งทางออกน่าจะเป็นการสร้างความเข้าใจระหว่างกัน เหมือนพ่อแม่พยายามปรับความเข้าใจกับลูก ที่อาจจะต้องใช้ความอดทนและความพยายามให้มาก เด็กๆ ไม่ว่าสมัยใดก็ดื้อมากๆ เพียงเพราะเขาอยากทำอะไรเองบ้างก็เท่านั้น