เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา มีส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ วิลาศ จันทร์พิทักษ์ ออกมาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบประวัติย้อนหลังของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่า เคยมีทุจริตหรือไม่ หลังจากที่มีข่าวโผครม.ออกมา และมีรายชื่อรัฐมนตรีบางรายที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช. ได้มีมติตั้งอนุกรรมการไต่ส่วนอยู่ในขณะนี้ “เพราะการที่ ป.ป.ช. ตั้งอนุกรรมการไต่สวนฯ ในขณะนี้ แสดงว่า เรื่องของการทุจริตนั้น ก็ต้องมีมูล ดังนั้น เราเห็นนักการเมืองชอบพูดกันว่า มาตรฐานความรับผิดชอบของนักการเมือง มีสูงกว่าบุคคลธรรมดา ซึ่งกรณีนี้จะถือเป็นการพิสูจน์ว่า เป็นไปตามที่พูดหรือไม่ เป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน” “วิลาศ”ยังตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาการทุจริตนั้นเป็นปัญหาสำคัญของประเทศมาก แต่ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา เกือบทุกพรรคมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตน้อยมาก จากนั้นก็ปวารณาตัวขอเป็นนักตรวจสอบอิสระ ไม่อยู่ในคณะกรรมการการตรวจสอบใดๆ ทั้งสิ้นแล้วจะตรวจสอบทุกพรรคทุกคน เพราะฉะนั้น ใครที่มีข้อมูลการทุจริตสามารถส่งมาที่เขาได้เลย เพราะไม่มั่นใจว่าที่แทบทุกพรรคไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริต “เป็นไปได้ว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่ มีพวกทุจริตเข้าไปปะปน มากบ้างน้อยบ้าง เพราะฉะนั้น จึงไม่กล้ามีนโยบายในเรื่องดังกล่าว” ข้อสันนิษฐานของ “วิลาศ” มีข้อเท็จจริงอยู่มากน้อยแค่ไหน ยังต้องรอการพิสูจน์ อีกทั้งรายชื่อรัฐมนตรีที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งในกระทรวงต่างๆนั้น ยังไม่สะเด็ดน้ำ จึงไม่อาจกล่าวได้ว่า จะมีผู้ที่ปัญหาทุจริตเข้ามาปะปนในครม.ด้วยหรือไม่ แต่กระนั้น ในจังหวะที่ “วิลาศ” ออกมาประกาศปณิธานเป็นนักตรวจสอิสระนั้น ก็เป็นในห้วงเดียวกันที่มีความเคลื่อนไหว ภายในพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเอง ที่มีการตรวจสอบปัญหาการทุจริตของบรรดาว่าที่รัฐมนตรีเช่นเดียวกัน ด้วยบรรดานักการเมืองที่เป็นหัวหน้ากลุ่มต่างๆ ซึ่งเรียกร้องและต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีหลายคนมีชนักปักหลัง ปัญหาทุจริตที่ยังคาราคาซังอยู่ในป.ป.ช. จะว่าเป็นการ “เตะตัดขา” หรืออย่างไร ก็สุดแท้แต่ แต่บุคคลที่เข้ามาสู่ศูนย์กลางอำนาจ และเข้าถึงการบริหารงบประมาณนั้น หากยังมีมลทิน ย่อมสร้างความไม่สบายใจให้กับประชาชนผู้เสียภาษี และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาลเอง ผลพวงจากการตรวจสอบกันเองนั้น ผลประโยชน์ย่อมจะตกมาที่ประชาชน ที่จะได้บุคคลที่มีความโปร่งใสเข้ามาทำงาน นอกเหนือไปจากความรู้ ความสามารถในการบริหารงานที่ได้รับมอบหมายแล้ว แต่กระนั้น ทางที่ดี ในกระบวนการคัดสรรคผู้ที่จะเข้ามาลงสมัครรับเลือกตั้งเอง ก็ควรจะมีการตรวจสอบประวัติย้อนหลังถึงปัญหาทุจริตก่อน หากยังไม่พ้นบ่วงก็ไม่ควรรับมาตั้งแต่ต้น จะได้ไม่มีปัญหาที่บุคคลเหล่านั้นจะก้าวเข้าสู่สภาฯ หรือทำเนียบรัฐบาล