แก้วกานต์ กองโชค การที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ และสำนักงานปราบปรามการทุจริตร้ายแรงของประเทศอังกฤษ (SFO) ออกมาแถลงโดยระบุว่า บริษัทโรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานรายใหญ่ของประเทศอังกฤษ ยอมจ่ายเงินกว่า 800 ล้านดอลลาร์ เพื่อยอมความข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่และข้อหาคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ใน 3 ประเทศ คืออังกฤษ สหรัฐ และบราซิล และยอมรับว่ามีการจ่ายสินบนให้นายหน้าของไทยและพนักงานการบินไทยเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทโรลส์-รอยซ์ในการจัดซื้อเครื่องยนต์เทรนต์ 800 หรือ ที-800  จนทำให้ จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2560 เพื่อรายงานกรณีที่บริษัทโรลส์-ลอยซ์ ออกมายอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตร้ายแรงของประเทศอังกฤษ (SFO) ว่าได้จ่ายสินบนในประเทศไทยระหว่างปี 2534-2548 ทั้งนี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) บอกกับสำนักข่าวอิศราว่า ภายหลังจากที่ปรากฎข่าวว่า ศาลสหราชอาณาจักรสั่งปรับ โรลส์-รอยซ์ บริษัทเครื่องยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกสัญชาติอังกฤษ 671 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท หลังจาก สำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) ของประเทศ พบว่า บริษัทสมรู้ร่วมคิดกับการทุจริต หรือ ละเลยต่อการป้องกันการติดสินบนในไทย จีน อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ไนจีเรีย ในกรณีของประเทศไทย ถูกระบุว่าเป็นกรณีการจัดซื้อเครื่องยนต์ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เขาบอกว่า กรณีนี้มีเหตุอันควรรับฟังได้ว่า ไม่ใช่ข้อมูลทั่วไป แต่เป็นข้อมูลการสอบสวนของสำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) และมีการนำข้อเท็จจริงเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาลด้วย ข้อมูลหลักฐานประกอบต่างๆ จึงมีน้ำหนักอย่างมาก ผลการสอบสวนของสำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) ของอังกฤษระบุว่า บ.โรลส์รอยส์ จ่ายสินบนให้จนท.ไทยและการบินไทยรวม3ครั้ง มูลค่า 36.38 ล้านดอลล่าร์ (1,300 ล้านบาท) ครั้งแรกปี 2534 -2535 จ่ายให้เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานการบินไทย ผ่านนายหน้าจำนวน 18.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้เลือกซื้อเครื่องไอพ่นT800 สำหรับโบอิ้ง777 ของการบินไทย ในช่วงรัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน  ครั้งที่ 2 ปี2535 -2540 จ่ายสินบนให้พนักงานการบินไทย 10.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซื้อไอพ่น T800 ล็อต2 โดยเบิกล่วงหน้า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อ"จัดการขั้นตอนทางการเมือง" ในช่วงรัฐบาล นายชวน หลีกภัย นายบรรหาร ศิลปอาชา  และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ  ครั้งที่ 3 ปี 2547-2548 จ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และพนักงานการบินไทย 7.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซื้อไอพ่น T800 ล็อต3 โดยได้ไปคุยและกินข้าวกับรัฐมนตรีเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติสัญญา รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร นั่นจึงทำให้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเตรียมงตรวจสอบมี 3 ด้านได้แก่ 1. กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของการบินไทยในปัจจุบันมีความโปร่งใสเพียงพอหรือไม่ หรือต้องมีการปรับปรุงกติกาและระเบียบเพิ่มเติม 2. กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในอดีตและปัจจุบันแตกต่างกันอย่างไร และ 3. กรณีของบริษัท โรลส์-ลอยซ์ มีข้อเท็จจริงอย่างไรและมีใครในการบินไทยเกี่ยวข้องบ้าง  ขณะเดียวกันบริษัทการบินไทย จะเร่งดำเนินการใน 2 ด้านคือ 1.การป้องกันการทุจริต โดยตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกระบวนการจัดหาเครื่องยนต์ และการซ่อมบำรุง โดยมีนายพิเชษฐ์ เรียงวัฒนสุข ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริหารความเสี่ยง เป็นประธาน 2. การสอบสวนและดำเนินการกับการทุจริต โดยตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจพิเศษ (Special Task force) เพื่อตรวจสอบเรื่องทุจริตในการจัดหาเครื่องยนต์ และการซ่อมบำรุง ในระหว่างปี 2534- 2548 โดยมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เป็นประธาน ขณะเดียวกันกระทรวงยุติธรรมและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สหรัฐอเมริกา ได้ตรวจสอบพบบริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม อิงค์ ได้ติดสินบนผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) จำกัด (มหาชน) กว่า 11 ล้านดอลลาร์ หรือราว 385 ล้านบาท ทำให้สำนักงาตรวจเงินแผ่นดินส่งสายตรวจตรวจสอบหลักฐานการจัดซื้อของทั้งบริษัท การบินไทยฯ และบริษัท ปตท.แล้ว โดยจะรวบรวมหลักฐานกระบวนการจัดหา ผู้เสนออนุมัติว่า ประกอบด้วยใครบ้าง พร้อมเอาข้อมูลจากต่างประเทศมาตรวจสอบ โดยเชื่อว่ามีหลักฐานการเงินเป็นข้อมูลเจาะจงตัวบุคคล ว่าจ่ายเงินให้ใคร เพราะเอาผิดจากผู้จ่ายเงินสินบน ซึ่งต้องมีรายชื่อคนไทยทั้งหมดที่ไปรับเงินจากบริษัทโรลส์-รอยซ์ ผู้ว่า สตง.ระบุว่า กรณีบริษัท ปตท.รับสินบนในปี 2556 นั้น หาหลักฐานได้ไม่ยาก โดยเฉพาะหลักฐานการจัดซื้อกระบวนการอนุมัติจัดหา การเลือกเครื่องยนต์กลไก ฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยจะมีคณะกรรมการศึกษาด้านเทคนิค เสนอใครตัดสินใจ เลือกซื้อยี่ห้อนี้ และเสนอรัฐมนตรี เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหรือไม่ มาประกอบกับหลักฐานจากต่างประเทศ "ต้องมีคนกลางวิ่งล็อบบี้เพื่อจ่ายสินบนให้หน่วยงานไทย อาจเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ล็อบบี้ทั้ง ปตท.และการบินไทย ให้ซื้อเครื่องยนต์ของบริษัทโรลส์-รอยซ์ และเชื่อว่าจะมีการระบุรายชื่อว่าจ่ายเงินให้ใคร เหมือนกรณีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย" ผู้ว่าสตง.อธิบายกระบวนการจ่ายสินบน แต่ปัญหาใหญ่กว่านั้นก็คือ จุดจบของเรื่องมักไม่มีจุดจบ !!!