11 มิ.ย. "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งดำรงตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2" อย่างเป็นทางการ ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี "มือกฎหมายรัฐบาล" ยังระบุด้วยว่า ถือเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรี เข้ารับพระบรมราชโองการภายในทำเนียบรัฐบาล หากไม่นับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รักษาการประธานองคมนตรี เมื่อครั้งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ สิ่งที่รองนายกฯวิษณุ มิได้ระบุถึง คือยังถือได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯคนแรกและคนเดียวที่ยังคงถือ "ดาบอาญาสิทธิ์" อย่าง "มาตรา 44" เอาไว้ในมือ และยังจะเป็นผู้นำรัฐบาลที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ในวันที่ 22-23 มิ.ย.นี้ ซึ่งถือเป็นงานสำคัญที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ แม้นาทีนี้ การกลับมาในฐานะนายกฯคนที่ 29 สมัยที่ 2 ของพล.อ.ประยุทธ์ จะยังอยู่ในบรรยากาศที่การเมืองหลังการตั้งรัฐบาลยังไม่นิ่ง บรรดาพรรคร่วมรัฐบาล ยังเปิดศึกต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี กันอย่างดุเดือด ชนิดที่เรียกว่า ไม่มีใครยอมใคร ไม่ว่าจะเป็นทั้ง "ศึกใน" และ "ศึกนอก" จนทำให้ "คีย์แมน" ทั้งพรรคพลังประชารัฐเองนั่งกันไม่ติด เพราะ "ประชาธิปัตย์" และ "พรรคภูมิใจไทย" หรือแม้แต่กลุ่มสามมิตร ในพรรคพลังประชารัฐ ต่างนำเอา "ข้อตกลง" ในการเจรจาก่อน "วันลงมติ" เลือกนายกฯ เป็น "คำตอบสุดท้าย" ด้วยกันทั้งสิ้น ! แต่ทว่า ปัญหาความขัดแย้งในระหว่างการจัดสรรตำแหน่งในครม.ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้น ในแต่ละรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา แต่อย่างใด สำหรับพล.อ.ประยุทธ์ แล้วนาทีนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นฝ่าย "ถือแต้มต่อ" ในทุกประตู เพราะบันไดขั้นแรกบรรลุเป้าหมายไปแล้ว นั่นคือการได้กลับมาเป็นนายกฯสมัยที่ 2 ส่วนการตั้งรัฐบาลที่กำลังวุ่นวายฝุ่นตลบ ก็ยังมีจังหวะได้หายใจ หายคอ เว้นระยะให้แต่ละพรรคร่วม ได้ออกแรง ต่อรองกันให้เต็มที่ ไปจนเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 4 ปิดฉากลงไป ในระหว่างนี้ การทำหน้าที่ในฐานะนายกฯของพล.อ.ประยุทธ์ ก็ถือว่ายังมีอำนาจเต็ม พร้อมกันนี้ หากพรรคร่วมรัฐบาลยังวุ่นวายสร้างการต่อรองไม่เลิกรา พรรคพลังประชารัฐ และคสช.เองก็ยังพอมี "ไม้เด็ด" ออกมาใช้พลิกสถานการณ์ ได้อีกหลายตลบ และหากการต่อรองยังยืดเยื้อออกไปไม่จบสิ้น นั่นหมายความว่าทุกฝ่ายจะต้องยอมรับสภาพให้ รัฐบาลปัจจุบันนั่งบริหารงานต่อไป จนกว่า จะมีรัฐบาลชุดใหม่ เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาว่าจะต้องตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ให้เสร็จสิ้นเมื่อใด ! ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใด พรรคพลังประชารัฐ และตัวพล.อ.ประยุทธ์ เอง ไปจนถึง "บิ๊กป้อม"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงเหมือน ไม่ทุกข์ไม่ร้อนไปกับ "เกมเขย่าขวัญ" จากพรรคร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังกลายเป็นว่า แทนที่พรรคร่วมรัฐบาล จะหันมากดดันพรรคพลังประชารัฐ ในทิศทางเดียวกันแล้ว กลับมีการ "เปิดศึก" ระหว่าง กลุ่มสามมิตรกับแกนนำพรรคภูมิใจไทย ไปจนถึงต่างฝ่ายต่างใช้ "สงครามข่าว" สร้างประเด็น "จริงในลวง" ไปจนถึง "เท็จในจริง" ให้วุ่นวาย อย่างที่เห็น !