ช่วงก่อนการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีประเด็นที่รัฐบาล โดยกรมการค้าภายในเสนอให้คณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) พิจารณาเห็นชอบให้นำยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล เข้าอยู่ในบัญชีควบคุม ถือเป็นนโยบายที่มีเสียงสนับสนุนจากหลายฝ่าย อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา ที่ประชุมใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) มีมติสนับสนุนความโปร่งใสในตลาดยา วัคซีน และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ที่ผ่านมา กระตุ้นให้ประเทศสมาชิกเผยแพร่ข้อมูลราคาจริงของยาและเวชภัณฑ์ เพิ่มความโปร่งใสด้านสิทธิบัตรยา และให้ฝ่ายเลขาธิการ WHO ติดตามผลของความโปร่งใสต่อราคาการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เป็นต้น เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ได้รับทราบมติขององค์การอนามัยโลกแล้ว และได้เน้นย้ำว่า มติขององค์การอนามัยโลกสะท้อนให้เห็นว่า แนวทางต่างๆ ที่ไทยดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น การกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนต้องแจ้งราคาซื้อ-ขายยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ รวมทั้งประเมินค่ารักษาเบื้องต้นให้ผู้ป่วยทราบก่อนให้บริการ นอกจากนี้ ยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการในส่วนกลางและภูมิภาคเพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการให้บริการที่เกินความจำเป็นหรือคิดค่ารักษาสูงเกินสมควร นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังขอความร่วมมือทุกภาคส่วนสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากข้อมูลที่ตรวจสอบพบว่ามีโรงพยาบาลจำนวนหนึ่งที่ตั้งราคาค่ายา เวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ไว้สูงกว่าราคาเฉลี่ยไปมาก โดยกระทรวงพาณิชย์จะเรียกหารือเพื่อแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 52 พ.ศ. 2562 ต่อไป อย่างไรก็ตาม แม้การดำเนินการของไทยจะสอดรับกับ องค์การอนามัยโลก แต่ภายในประเทศเอง ยังต้องเผชิญกับแรงเสียดทานจากผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน และความเห็นที่แตกต่างจากสังคม ซึ่งถือว่าเป็น “เผือกร้อน” สำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ ที่จะต้องเข้ามาขับเคลื่อนในประเด็นดังกล่าว ท่ามกลางกระแสข่าวการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีที่ยังไม่ลงตัว และมีการต่อรองตำแหน่งในกระทรวงเกรดเอ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ เป็นหนึ่งในนั้น ที่เป็นเงื่อนไขที่ยังไม่สามารถทำให้การจัดตั้งรัฐบาลนิ่งได้ แต่หากมองภาระในอนาคต สำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่จะต้องเข้ามารับผิดชอบ ไม่เพียงเรื่องการควบคุมราคายาและเวชภัณฑ์เท่านั้น สิ่งที่จะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างแน่นอนก็คือ ภาวะการส่งออก ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว อีกทั้งเรื่องของราคาส้นค้าเกษตรตกต่ำ ที่ต้องมาเวียนมาเป็นวงรอบ ดังนั้นผู้ที่จะมาเป็นเสนาบดีคนใหม่จึงต้องมากไปด้วยฝีไม้ลายมือ เพราะประชาชนฝากความหวังเอาไว้ และแน่นอนว่า ในประเด็นเรื่องราคายาและเวชภัณฑ์ หากสามารถผลักดันให้สำเร็จ เป็นรูปธรรม และไม่เปิดช่องโหว่หรือผลกระทบข้างเคียงแล้ว จะส่งผลให้ประชาชนเกิดความศรัทธาต่อรัฐบาลอย่างสูง นี่คือการบ้านของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ที่โจทย์หินๆทั้งนั้น