ดร. วิชัย พยัคฆโส
[email protected]
4’P หรือ Product, Price, Place, และ Promotion เป็นทฤษฎีของวิชาว่าด้วยการตลาดในการเริ่มต้นผลิตสินค้าเข้าสู่ธุรกิจการค้า ถือว่าเป็นพื้นฐานที่จำเป็นต้องมี หากขาด P ตัวใดตัวหนึ่งหรือขาดประสิทธิภาพ สินค้าตัวนั้นจะไม่สามารถเข้าสู่เวทีการแข่งขันให้ประสบผลสำเร็จได้ยากยิ่ง
เช่นในอดีตที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด พยายามผลักดันให้สินค้าไทยสู่เวทีการแข่งขันในระดับนานาชาติ ก็ยังมี P ในระดับสากลไม่ครบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวทีภายในประเทศของสินค้า OTOP และสินค้าชุมชนของชาวเอสเอ็มอีทั้งหลายจึงไม่ได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้า
การทุ่มเทแหล่งเงินให้ผลิต แต่ไม่ได้จัดระบบให้ครบวงจรทั้ง 4’P จึงทำให้ชาวเอสเอ็มอี มีแต่สินค้าแข่งขันกันเองจนล้นความต้องการ เพราะไม่มีตลาด หรือไม่รู้ว่าจะสร้างตลาดอย่างไร ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ เพราะหากจะใช้สื่อวิทยุ โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ต้นทุนจะสูงลิ่วรับกับราคาสินค้าพื้นๆ ไม่ได้อยู่ดี จึงเป็นไฟไหม้ฟางกันมาตลอด
หากจะถามว่าหน้าที่ใคร แน่นอนว่าเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตหรือพ่อค้าแม่ค้า แต่ถ้ารัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุนต้องจัดระบบโครงสร้างทั้ง 4’P ให้ครบวงจร มิใช่ปล่อยให้กู้เงินจากธนาคารมาลงทุนแล้วถูกลอยแพเพราะสินค้าไม่มีตลาดที่จะจำหน่าย เอสเอ็มอีจึงตกมาเป็นสมบัติของรัฐบาลชุดนี้ที่จะต้องอุ้มชูให้เกิดรายได้ภายในประเทศ และพัฒนาต่อยอดส่งออกไปตามภูมิภาคตามความเหมาะสม
การที่ รองนายกฯ สมคิด กระตุ้นลงแส้กระทรวงพาณิชย์ ให้จัดระบบตลาดในภูมิภาค ทั้งตลาดกลาง ตลาดสินค้าเฉพาะทาง และตลาดชุมชน ให้แล้วเสร็จเกิดผลภายใน 3 เดือน เป็นการลงแส้ที่ถูก Function มากที่สุด ดีกว่าไปวิ่งเปิดตลาดธงฟ้าแบบฉาบฉวยไม่ยั่งยืน ไม่สอดคล้องกับประเทศไทย 4.0 หรือ เศรษฐกิจ 4.0
เช่นเดียวกันคงมิใช่ให้กระทรวงพาณิชย์ที่มีเครือข่ายพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัดเปิดตลาดแต่เพียงอย่างเดียว สินค้าชุมชนก็ต้องมีหลากหลายเป็นสินค้าที่จะสามารถสร้างตลาดได้ด้วย อีกส่วนหนึ่งหนีไม่พ้นเรื่องของราคากับการประชาสัมพันธ์ ก็ต้องมีมาตรการรองรับให้ครบทั้ง 4’P เช่นกัน
นโยบายอินเตอร์เน็ตเข้าสู่ชุมชนและหมู่บ้านกำลังจะเกิด จึงเป็นช่องทางที่ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนสูงในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพราะจะต้องให้ผู้ผลิตหรือสินค้าชุมชนสามารถประชาสัมพันธ์ทางเวปไซต์ได้ด้วยตนเอง ก็ต้องเป็นงานของกระทรวงพาณิชย์ต้องจัดระบบให้ด้วย
รัฐบาลปรับระบบงบประมาณใหม่ให้เป็นแผนงานบูรณาการมากขึ้น และยังได้แบ่งงบประมาณให้กลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มๆ ละ 5,000 ล้านบาท มุ่งหวังให้เกิด local economy ในระดับจังหวัดอยู่แล้ว จังหวัดก็ต้องกำหนดโครงการและมาตรการให้สอดคล้องกับการพัฒนาอาชีพที่ยั่งยืนแก่ประชาชนในจังหวัดอีกส่วนหนึ่งควบคู่ไปกับสร้างแหล่งท่องเที่ยวเหมือนในญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จสินค้าชุมชนเป็นตัวอย่าง
หวังว่าจังหวัดคงไม่จัดสรรงบประมาณเพื่อทำโครงการก่อสร้างถนน สะพาน คูคลองให้หมดไป ได้แต่โครงสร้างพื้นฐานแต่ผลลัพท์ที่เป็น impact คือการอยู่ดีกินดีของประชาชน คงต้องบูรณาการนโยบายในภาพรวมให้เกิดความสมดุลย์ทางเศรษฐกิจเป็นหัวใจของการพัฒนาจังหวัดควบคู่ไปด้วย