สมบัติ ภู่กาญจน์ ในนิยามส่วนตัวของผม “ครู” คือทุกสิ่งอย่างที่ให้ความรู้แก่มนุษย์ ซึ่งนับตั้งแต่ ‘คน’ไปจนถึง ‘การกระทำ’หรือ ‘ปรากฎการณ์ต่างๆ’ ที่สามารถทำให้มนุษย์เกิดความรู้ขึ้นมาได้ ผมนับว่าเป็น “ครู” ได้ทั้งสิ้น ส่วน “อาจารย์”นั้นคือครูที่เป็นคน ซึ่งทำหน้าที่สอนสั่งหรือให้ความรู้แก่มนุษย์ด้วยความตั้งใจ และครูท่านนั้น มีคุณสมบัติครบถ้วน25 ประการ ดังที่ผมได้กล่าวมาแล้วในข้อเขียนตอนก่อน และตอนนี้จะได้กล่าวต่อไป ความคิดเหล่านี้ ผมได้รับการสอนสั่งมาจาก “อาจารย์ของผม” ผู้มีนามว่าม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ซึ่งให้ความรู้แก่ผมสารพัดอย่าง รวมทั้งการแนะนำว่า วรรณกรรมหรือ (ที่นักวิชาการชาวพุทธบางท่านเรียกว่า) ปกรณ์’เรื่องมิลินทปัญหานี้ มีคำถามคำตอบเกี่ยวกับข้อคิดทางศาสนาพุทธหลายอย่างที่น่าสนใจมาก ซึ่งเหมาะกับคนบ้าคิดและบ้าถามอย่างผม ควรจะไปหามาอ่าน และถ้าอ่านแล้วจะมาซักถามต่อ ผู้แนะนำก็จะเต็มใจคุยต่อด้วยความยินดี และสิ่งที่อาจารย์คึกฤทธิ์ย้ำกับผมอีกประการหนึ่งก็คือ ขณะที่อ่านนั้นขอให้นึกด้วยว่า ปัญหาเหล่านี้มีผู้ถามผู้ตอบ ที่ได้พูดคุยกันมาในโลกตั้งแต่เมื่อสองพันปีผ่านมาแล้ว ซึ่งช่วงเวลานั้นศาสนาหลายศาสนายังไม่เกิด แต่คำอธิบายเหล่านี้ได้เกิดขึ้นในโลกแล้ว รวมทั้งเรื่องเล็กๆเรื่องหนึ่งคือ อาจาริยคุณ 25 ประการ ที่ผมนำเสนอมา วันนี้เราจะมาพิจารณารายละเอียดของเรื่องนี้กันอีกครั้งครับ ถ้าเราจะใช้ความคิดหลังการอ่าน อันเป็นความรู้อย่างหนึ่งที่ผมคิดว่ามีอยู่ในวิชา‘อ่านเอาเรื่อง’ ซึ่งคนรุ่นผมเคยเรียนวิชาชื่อนี้เมื่อสมัยยังเด็ก และตอนนี้จะมีอยู่ในการสอนอีกหรือไม่ไม่แน่ใจนัก? อาจาริยคุณ25ข้อนี้ อาจจะแบ่งให้เป็น “สิ่งที่ควรทำ” และ “สิ่งที่ควรมี”ได้สองกลุ่ม ถ้าเราจะพิจารณากันตามลำดับหัวข้อของวรรณกรรมเรื่องนี้ที่ถูกเขียนขึ้นมา ก่อนจะไปถึงการพิจารณาในแต่ละหัวข้อ ผมขอให้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกนิดว่า ตามข้อสันนิษฐานของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ วรรณกรรมมิลินทปัญหาที่มีอยู่ในเมืองไทย ขณะที่ท่านสันนิษฐานนั้นน่าจะมีอยู่ 3 ฉบับ คือฉบับแปลสมัยอยุธยาฉบับหนึ่ง ฉบับแปลสมัยรัชกาลที่3อีกฉบับหนึ่ง และหลังสุดคือฉบับแปลของมหามกุฏราชวิทยาลัยซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นในยุคนั้นอีกฉบับหนึ่ง แต่ผ่านมาถึงยุคของผม ผมพบว่าเมื่อพ.ศ.2539ก็มีฉบับที่สี่ ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีขึ้นอีกฉบับหนึ่ง จนถึงพ.ศ.2545ก็มีฉบับที่แปลจากภาษาพม่า ที่มูลนิธิปราณี สำเริงราชย์จัดพิมพ์เผยแพร่อีกฉบับหนึ่ง ความรู้จากการอ่านของผมจึงได้ข้อยุติว่าขณะนี้เมืองไทยคงมีมิลินทปัญหาอยู่ 5 ฉบับ และเท่าที่ผมสามารถจะหาหนังสืออ่านได้ ผมพบว่าเรื่องอาจาริยคุณ25ประการ นั้นมีกล่าวอยู่แต่ในฉบับของมหามกุฏราชวิทยาลัย กับฉบับที่แปลจากภาษาพม่าเท่านั้น ส่วนฉบับที่พิมพ์ในงานพระราชพิธีฯเป็นฉบับเก็บความและเรียบเรียงเป็นภาษาที่ได้ง่ายๆเฉพาะหัวข้อสำคัญๆ อันเป็นพระราชประสงค์ที่เคยทรงปรารภไว้ของสมเด็จพระบรมราชชนนี ดังนั้น การพิจารณาแต่ละหัวข้อในครั้งนี้ ผมจึงจะนำคำแปลเรื่องอาจาริยคุณที่มีอยู่ในมิลินทปัญหา2 ฉบับ คือฉบับของมหามกุฏฯกับฉบับแปลจากภาษาพม่าเท่านั้น มาเปรียบเทียบกัน เพื่อให้เกิดมุมมองที่กว้างขึ้นในการทำความเข้าใจ เริ่มตั้งแต่ข้อที่หนึ่ง ซึ่งผมจัดให้เป็นข้อแรกของกลุ่มสิ่งที่พึงทำ จะประกอบไปด้วย 14 หัวข้อ ดังนี้ ข้อหนึ่ง (ฉบับมหามกุฏฯ) อาจารย์พึงเอาใจใส่จัดความพิทักษ์รักษาอันเตวาสิกเป็นนิตย์ - (ฉบับแปลจากพม่า) พึงอุปัฏฐากรักษาศิษย์อย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ ข้อแปด (ฉบับมหามกุฏฯ) พึงแบ่งของอยู่ในบาตรให้ - (ฉบับแปลจากพม่า) พึงแบ่งปันอาหารในภาชนะ ข้อเก้า (ฉบับ มก.) พึงปลอบให้อุ่นใจว่า อย่าวิตกไปเลย ประโยชน์ของเจ้ากำลังเดินขึ้นอยู่ - (ฉบับ ปพ.) พึงปลอบโยนศิษย์เช่นนี้ว่า “เธออย่ากลัวไปเลย ผลที่เธอต้องการจะก้าวมาหาเธอ” ดังนี้เป็นต้น ข้อสิบสอง (ฉบับ มก.) พึงรู้ความเที่ยวอยู่ในหมู่บ้าน - (ฉบับ ปพ.) พึงไม่เล่นคะนองกับศิษย์ ข้อสิบสาม (ฉบับ มก.) พึงไม่กระทำการเจรจากับอันเตวาสิกนั้นพร่ำเพรื่อ - (ฉบับ ปพ.) พึงทำการทักทายปราศรัยกับศิษย์ ข้อสิบห้า (ฉบับ มก.) พึงเป็นผู้กระทำอะไรๆ โดยเอื้อเฟื้อ – (ฉบับ ปพ.) พึงเป็นผู้มีปกติทำ อย่างเคารพในวัตรปฏิบัติ ข้อสิบหก (ฉบับ มก.) พึงเป็นผู้กระทำอะไรๆ ไม่ให้ขาด – (ฉบับ ปพ.) พึงเป็นผู้มีปกติทำ อย่างไม่ขาดตอน ข้อสิบเจ็ด (ฉบับ มก.) พึงเป็นผู้กระทำอะไรๆ ไม่ซ่อนเร้น – (ฉบับ ปพ.) พึงเป็นผู้มีปกติทำ อย่างไม่ปิดบัง ข้อสิบแปด (ฉบับ มก.) พึงเป็นผู้กระทำอะไรๆ ให้หมดไม่มีเหลือ - (ฉบับ ปพ.) พึงเป็นผู้มีปกติทำ อย่างไม่มีเหลือ ข้อสิบเก้า (ฉบับ มก.) พึงตั้งจิตว่าเป็นชนก โดยอธิบายว่า ตนยังเขาให้เกิดขึ้นในศิลปวิทยาทั้งหลาย – (ฉบับ ปพ.) พึงตั้งความคิดให้ศิษย์รู้ว่า เราจะทำให้ศิษย์ได้รู้ในศิลปทั้งปวง ข้อยี่สิบ (ฉบับ มก.) พึงตั้งจิตคิดหาความเจริญให้ว่า ไฉนอันเตวาสิกผู้นี้จะไม่พึงเสื่อมเลย – (ฉบับ ปพ.) พึงตั้งความคิดให้ศิษย์เจริญว่า ศิษย์จะไม่พบกับความเสื่อม ข้อยี่สิบเอ็ด (ฉบับ มก.) พึงตั้งจิตไว้ว่า เราจะกระทำอันเตวาสิกผู้นี้ให้แข็งแรงด้วยกำลังศึกษา – (ฉบับ ปพ.) พึงตั้งความคิดว่า เราจะทำให้ศิษย์มีกำลังด้วยการศึกษา ข้อยี่สิบสาม (ฉบับ มก.) ไม่พึงละทิ้งศิษย์ ในเวลามีอันตราย – (ฉบับ ปพ.) ไม่พึงละทิ้งศิษย์เมื่อคราวมีอันตราย ข้อยี่สิบสี่ (ฉบับ มก.) ไม่พึงประมาทในกิจที่จะต้องกระทำ – (ฉบับ ปพ.) ไม่พึงหลงลืมในกิจที่พึงทำ จากการแบ่งประเภทของผม นี่คือ “สิ่งที่พึงทำ ๑๔ ประการ” ที่ผู้เป็นอาจารย์พึงกระทำต่อศิษย์ นอกเหนือจากนี้ยังมีอีก 11 ประการ ที่ผมจัดให้เป็น “สิ่งที่อาจารย์พึงมี” ขอเชิญติดตามส่วนที่เหลือในสัปดาห์หน้า แล้วเราอาจจะมองเห็นได้ชัดขึ้น ว่าจะมีคนที่สมควรเรียกได้ว่าเป็น ‘อาจารย์’ได้จริงๆสักกี่คน ในสังคมไทยยุคพุทธศตวรรษสองพันห้าร้อยหกสิบปีนี้