ทวี สุรฤทธิกุล
ประชาธิปไตยใหม่คือ “โลกใหม่” ที่คนรุ่นใหม่อยากสร้าง
ถ้าจะจำกัดความให้กระชับถึงความหมายของคนที่เรียกว่า “คนรุ่นใหม่” ก็คงต้องใช้คำว่า “ลูกหลานของเรา” และ “โลกใหม่” ของพวกเขาก็คือ “โลกที่แตกต่างและดีกว่าโลกที่เป็นอยู่” ในทำนองเดียวกันกับคำว่า “ประชาธิปไตยใหม่” ที่หมายถึง “ประชาธิปไตยที่แตกต่างและดีกว่าเดิม” นั่นเอง
“ประชาธิปไตยใหม่” ในความหมายของคนรุ่นใหม่จึงไม่ได้มีความหมายแบบประชาธิปไตยที่เขาสอนๆ กันในตำรารัฐศาสตร์ ที่หมายถึงการปกครองโดยระบบตัวแทนเสียงข้างมาก โดยมีรัฐสภาเป็นที่เจรจาพูดคุยกันของบรรดาตัวแทนดังกล่าว โดยมีเป้าหมายเพื่อสนองตอบต่อความต้องการและประโยชน์สุขของประชาชนโดยส่วนรวม เพราะประชาธิปไตยใหม่ที่คนรุ่นหนุ่มสาวในยุคนี้กำลังเรียกร้องกันนั้นแตกต่างจากประชาธิปไตยที่ดำเนินกันอยู่ในทางสากลนั้นมาก เนื่องจากพวกเขามองว่าประชาธิปไตยที่เป็นกันอยู่นี้ เป็นประชาธิปไตยของคนเก่าๆ เพียงเพื่อสร้างโลกที่สนองตอบต่อความต้องการของคนรุ่นเก่าเหล่านี้ ทั้งยังกีดกันคนรุ่นใหม่ไม่ให้เข้าไปมีอำนาจในการบริหาร ดูหมิ่นดูแคลนสติปัญญาและความสามารถของคนรุ่นใหม่ ยิ่งไปกว่านั้นประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่จะต้อง “เปิดพื้นที่” ให้กว้างขวาง ไม่ใช่จำกัดอยู่เฉพาะในสภา และมอบอำนาจให้กับตัวแทนหรือ ส.ส. ไปทั้งหมด พวกเขาควรจะต้องสามารถ “เข้าถึง” อำนาจนั้นได้ “โดยตรง” ซึ่งบางทีคนเหล่านี้ก็เรียกประชาธิปไตยของพวกเขาว่า “ประชาธิปไตยโดยทุกคน ในทุกโอกาส และทุกพื้นที่”
เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้อ่านบทความของอาจารย์คนรุ่นใหม่ในชื่อบทความว่า “ประชาธิปไตยที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเสียงข้างมาก” ที่อธิบายถึงลักษณะประชาธิปไตยของกลุ่มอำนาจเก่าที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้น โดยที่ผู้ปกครองเหล่านี้ไม่ยอมปล่อยอำนาจนั้นไปสู่มือประชาชนเลย ทั้งยังพยายามที่จะ “ก่อกอด” คือสร้างและรักษาไว้ซึ่งอำนาจในฝ่ายตนให้แข็งแรงมั่นคงและต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็พยายาม “กีดกัน” คือขัดขวางและจ้องทำลายอำนาจของฝ่ายตรงข้ามที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ตลอดเวลา โดยที่ชนชั้นปกครองเหล่านี้ได้นำเสนอ “หน้ากาก” ของระบอบการปกครองแบบนี้ภายใต้ระบอบการปกครองที่เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้เรียกว่า “ประชาธิปไตยที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเสียงข้างมาก” ดังกล่าว
คนเขียนบทความนี้ได้ท้าวความถึงการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่มีจุดมุ่งเพื่อการปฏิรูปการเมือง และได้ร่างขึ้นภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเข้มข้น จนได้ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สร้างให้เกิดระบบพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ที่สุดผู้นำของพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนอย่างมหาศาลนั้นก็ “ล่วงละเมิด” เข้าไปใน “อาณาเขตอำนาจ” ของชนชั้นปกครองที่เคยครอบงำระบบการปกครองของไทยมาอย่างยาวนาน คือทหารและผู้มีสถานภาพสูงทางสังคม หรือ “พวกอำมาตย์” จึงทำให้เกิดรัฐประหารขึ้น 2 ครั้ง ใน พ.ศ. 2549 และ 2557 เพื่อยับยั้งการขยายตัวของนักการเมืองกลุ่มดังกล่าว พร้อมกันนั้นก็ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่เพื่อ “จัดการอำนาจ” หรือกวาดล้างกลุ่มการเมืองกลุ่มนี้ อย่างที่ผู้คนในกลุ่มนี้ได้เรียกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ว่า “หมายจับทักษิณ” และเรียกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ว่า “ฉบับกำราบเสียงข้างมาก”
คนเขียนบทความนี้บรรยายถึงวิธีการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ว่า “สาระแกนกลางอยู่ที่ความพยายามกำกับควบคุมการเลือกตั้งให้ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถเป็นช่องทางสร้างพลังที่ท้าทายอำนาจชนชั้นนำได้” ด้วยการสร้างองค์กรทางการเมืองที่ชนชั้นปกครองสามารถควบคุมได้ ได้แก่ วุฒิสภา องค์กรอิสระต่างๆ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ให้มาควบคุมกระบวนการบริหารและนิติบัญญัติ รวมถึงควบคุมนักการเมือง ดังข้อความบางตอนเขียนว่า “พรรคการเมืองตั้งยาก ยุบง่าย การเลือกตั้งมีความซับซ้อน เลือกตั้งยาก นับคะแนนยาก ตั้งรัฐบาลยาก บริหารประเทศยาก” พร้อมกับบอกว่า “ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการของการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 สะท้อนความสำเร็จของชนชั้นนำเดิมของไทยในการดัดแปลงสถาบันและกลไกต่างๆ ของรัฐให้เป็นประโยชน์กับฝ่ายตนในฐานะที่เป็นคนส่วนน้อยของสังคม ด้วยการทำให้เสียงส่วนใหญ่หมดพลังทางการเมืองในระบบ ทั้งในกระบวนการการเลือกตั้งและการใช้อำนาจสถาบันเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำหน้าที่วินิจฉัยกำกับควบคุมสถาบันเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง” ซึ่งน่าจะหมายถึงการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญกำลังดำเนินการ “เอาจริง” กับหัวหน้าพรรคและนักการเมืองในพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ที่เป็นสัญลักษณ์ของ “ฝ่ายประชาธิปไตยรุ่นใหม่” เพื่อเป็นการ “เด็ดหัวเด็ดหาง” ไม่ให้กลุ่มการเมืองพวกนี้ได้ขึ้นมามีอำนาจ
นั่นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของแนวคิด “ประชาธิปไตยใหม่” ซึ่งถ้าหากเรานำมาอธิบายปรากฏการณ์การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อคืนวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็คงพอจะเข้าใจถึงแนวคิดนี้ได้อย่างชัดเจน นั่นก็คือ “การกีดกัน” การเข้าสู่อำนาจของคนรุ่นใหม่ โดยการผนึกกำลังกันของคนรุ่นเก่า ผ่านกลไกทางรัฐสภา ด้วยการใช้เสียงข้างมากที่ผู้ปกครอง “จัดตั้งขึ้น” ทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นกลุ่มก๊วนของผู้ปกครองด้วยกัน ร่วมกับพรรคการเมือง “ใต้กำกับ” ของผู้ปกครอง โดยใช้กติกาตามรัฐธรรมนูญที่มีนิติบริกรมาร่างให้ ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาอำนาจให้อยู่ในกลุ่มของตน ไม่ยอมให้คนรุ่นใหม่ล่วงล้ำเข้ามาได้
การสร้างประชาธิปไตยตามแนวคิดของคนรุ่นใหม่จะสำเร็จหรือไม่ ยังไม่มีใครสามารถทำนายได้ ขึ้นอยู่กับการรักษาจุดยืนนี้ให้มั่นคง และดำเนินการไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจนั้นอย่างมุ่งมั่น ตัวอย่างในอดีต เช่น 14 ตุลาคม 2516 หรือ พฤษภาคม 2535 คนรุ่นใหม่ก็เคยวาดหวังว่าจะสร้างการเมืองใหม่ได้ แต่ด้วยข้อผิดพลาดของคนรุ่นใหม่เองที่แตกแยกกันทางความคิด รวมถึงที่บางส่วนถูกกลืนเข้าไปในกลุ่มผู้มีอำนาจของระบอบเดิม สุดท้ายกระบวนการที่จะสร้าง “ประชาธิปไตยเฉพาะกลุ่ม” จึงต้องล้มเหลวเสมอมา
ทางออกน่าจะเป็นการสร้าง “ประชาธิปไตยที่ทั่วถึง” โดยคนรุ่นเก่าควรจะต้องเข้าใจคนรุ่นใหม่ให้ดีกว่านี้ เพราะถึงอย่างไรคนรุ่นนี้ก็ต้องถูกคนรุ่นต่อๆ ไปมาปกครอง เป็นวัฏจักรไปดังนี้แลฯ