มีความชัดเจนขึ้นในระดับหนึ่งสำหรับการเมืองไทย เมื่อการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศ ผ่านพ้นไปแล้ว โดยได้คนหน้าเดิม คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะนั่งทำงานในทำเนียบรัฐบาลต่อไปอีกเป็นสมัยที่สอง โดยอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล แม้จะไม่มีเงื่อนระยะเวลากำหนดให้ได้เห็นหน้าค่าตาคณะรัฐมนตรีชุดใหม่กันเมื่อใด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะประวิงเวลาให้ล่าช้าออกไป เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจนั้นรอไม่ได้ และจะปัญหาเศรษฐกิจนี้ จะเป็นบทพิสูจน์รัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้ผู้นำคนเดิมและขุนพลข้างกาย ที่มีโอกาสล้างตาอีกครั้ง ขณะที่เมื่อไปดู ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการสำรวจออกมา ปรากฏว่า เดือน พ.ค. 2562 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อยู่ที่ระดับ 77.7 จาก 79.2 ในเดือน เม.ย.62 ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ต่ำสุดในรอบ 19 เดือน จากความเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 64.8 จาก 66.2 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ระดับ 73.3 จาก 74.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 95.0 จาก 96.7 ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องทุกรายการ เนื่องจากปัจจัยที่สำคัญ 3 ประการคือ 1.ความไม่มั่นใจสถานการณ์การเมืองไทยในอนาคตเป็นสำคัญ 2.ผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูง และ3.ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ทั้งนี้จากการรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ถึงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/62 ที่เติบโตเพียง 2.8% ถือว่าต่ำสุดใน 17 ไตรมาสนั้น ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่สัญญาณที่ชะลอตัวและเริ่มเป็นภาพของขาลง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 4% ติดต่อกัน 3 ไตรมาส พร้อมคาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 จะขยายตัวได้ 2.8-3.2% ซึ่งคงไม่ย่อไปจากไตรมาสแรกมาก สามารถพยุงไว้ได้ ซึ่งเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่ได้มีสัญญาณการเติบโตที่โดดเด่นขึ้นจากมุมมองของผู้บริโภคเท่าใดนัก สำหรับความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีโอกาสที่จะกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 ปีนี้ หลังจากที่เริ่มเห็นความชัดเจนจากการมีคณะรัฐมนตรี(ครม.)ชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งจะต้องเป็นครม.ที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และสามารถขับเคลื่อนงบประมาณตลอดจนนโยบายในการบริหารเศรษฐกิจต่างๆได้ ขณะที่ธนาคารโลก โดยนายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารโลกอยู่ระหว่างประมวลภาพรวมของเศรษฐกิจไทยปี 2562 หลังจากประเทศไทยได้รัฐบาลใหม่อย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว โดยธนาคารโลกพร้อมแถลงรายละเอียดภาพรวมเศรษฐกิจไทยรอบใหม่ในช่วงเดือนก.ค.2562 นี้ ดังนั้น จึงยังใช้ประมาณการเศรษฐกิจไทยเดิมอยู่ โดยเมื่อ วันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา ธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปรับลดปี 2562 ลงเป็น 3.5% จาก 3.8% และปี 2563 เหลือ 3.6% จาก 3.9% ดังนั้น การบริหารจัดการมุ้งการเมือง ทั้งมุ้งในพรรคพลังประชารัฐเอง และพรรคร่วมรัฐบาล ในการจัดสรรโคว้ต้ารัฐมนตรีจึงต้องจบโดยเร็วที่สุด