อย่าได้แปลกใจที่จะพบว่า "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะอารมณ์ดีเป็นพิเศษ เพราะนี่ย่อมเป็นปฏิกริยาในเชิงบวก สำหรับใครก็ตามที่เป็นฝ่ายได้รับ "ชัยชนะ" เมื่อผลการลงมติเลือก "นายกรัฐมนตรี" โดยที่ประชุมรัฐสภาที่ใช้ระยะเวลาประชุมยาวนานกว่า12 ชั่วโมง มีมติเสียงข้างมาก 500 คะแนนเทให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ เอาชนะ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่ได้ 244 เสียง ไปได้อย่างฉลุย ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ กลับเข้ามาดำรงตำแหน่ง "นายกฯสมัยที่ 2" ได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อเสร็จศึกจากเวทีรัฐสภา แล้วกลับน่าสนใจว่าแรงกดดันอันเกิดจาก "เกมต่อรอง" ในการชิงเก้าอี้รัฐมนตรีในครม.ชุดใหม่ ก็ตามมาทันที ! ในความเป็นจริงแล้ว ต้องยอมรับว่าในการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาวาระลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ใช่ว่า ความเคลื่อนไหวจะไปอยู่เฉพาะในห้องประชุมรัฐสภาเท่านั้น หากแต่ว่ากันว่าบรรยากาศของการต่อรอง ระหว่าง "กลุ่มก๊วน" ภายในพรรคพลังประชารัฐด้วยกันเอง ไปจนถึงระหว่าง "พรรคพันธมิตร" ที่รับขันหมาก ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลอย่างพร้อมเพรียง โดยดูจากการลงมติด้วยวิธีการขานชื่อของแต่ละพรรคไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนาที่ต่างไม่มีใครแตกแถว ยกเว้นเกิดเซอร์ไพรซ์เล็กๆเมื่อ พรรคภูมิใจไทย ของ "อนุทิน ชาญวีรกูล" ไม่สามารถคุมเสียงโหวตได้ทั้ง 51 เสียง เพราะ "สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ" ส.ส.ศรีสะเกษ ของพรรค ประกาศ "งดออกเสียง" ขอแหกมติของภูมิใจไทย จนตัวอนุทิน อดที่จะแสดงความกังวลไม่ได้ว่าเก้าอี้ รัฐมนตรีที่เคยเจรจากันเอาไว้กับพรรคพลังประชารัฐ จะยังเหมือนเดิมหรือไม่ เกมการต่อรอง มีแนวโน้มว่าจะไม่จบลงเพียงเท่านั้น แต่ในทางตรงกันข้ามกลับมีสัญญาณว่าจะส่อเค้าลางแห่งความวุ่นวายตามมา ลำพังการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีให้กับกลุ่มการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐเองก็ใช่ว่าจะราบรื่น เพราะเวลานี้กลายเป็นว่า ต่างฝ่าย ต่างก๊วนต่างพากัน "ผนึกกำลัง"เพื่อโชว์ตัวเลขเก้าอี้ ส.ส.ของตัวเองว่ามีเท่าใด ไปจนถึงการทวงถาม "บำเหน็จ" หลังเสร็จสิ้นจากการเลือกตั้ง ที่ได้ใช้ "พลังดูด" ดึงแกนนำจากพรรคตรงข้ามให้เข้ามาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นเกมวัดใจทั้งตัวพล.อ.ประยุทธ์ ไปจนถึง "พี่ใหญ่" อย่าง "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ "ผู้จัดการรัฐบาล" จะบริหารความขัดแย้ง ที่มีอยู่ให้อยู่ในจุดที่ "ลงตัว" ได้อย่างไร และหากมองในมุมของบรรดาว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลเอง ก็ต้องเข้าใจเช่นกันว่า หากไม่เลือกเร่งเกมต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีในห้วงจังหวะนี้ แล้วปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามภายใต้การควบคุมของพรรคแกนนำรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวแล้ว โอกาสที่จะพลาดที่นั่งในกระทรวงหลัก ยิ่งมีมากเท่านั้น !