ทีมข่าวคิดลึก กลายเป็นเรื่องใหม่ ขึ้นมาทันที เมื่อ"กรรมการห้ามมวย" อย่าง "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือ คสช. หรือหากจะโฟกัสให้ตรงเป้าหมาย น่าจะหมายถึง "กองทัพ" กำลังจะถูกเขย่าเล็กๆ ด้วยความแรงไม่กี่ริกเตอร์ พอให้เกิดแรงสั่นสะเทือนไปยังกองทัพ เมื่อ "ฝ่ายการเมือง" ได้โยนคำถามกลับไปว่ากองทัพต้องลงนามทำสัตยาบันด้วยหรือไม่ว่า จะไม่มีการยึดอำนาจ ทำรัฐประหารขึ้นมาอีกในวันข้างหน้า หลังจากที่ก่อนหน้านี้ แนวทางในการสร้างความปรองดอง ของ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. รวมทั้ง "พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์"อย่าง "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ "สนามไชย 1" ต่างออกมายืนยันอย่างแข็งขันว่าต้องให้นักการเมืองร่วมลงนามทำMOU หรือจับนักการเมืองมาลงสัตยาบันทำข้อตกลงในหลายประเด็น เพื่อรักษาความสงบ ทำให้สถานการณ์การเมืองหลังการเลือกตั้ง ไม่กลับมาเผชิญหน้ากันอีก และดูเหมือนว่านับตั้งแต่รัฐบาลและ คสช. ได้เปิดประตูบานใหม่ว่าด้วยการสร้างความปรองดองขึ้นมานั้น น่าสนใจว่าแม้ท่าทีของทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร จะพยายาม "ทอดไมตรี" แสดงความจริงใจต่อนักการเมืองแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วนี่คือเกมที่ถูกกำหนดเอาไว้เรียบร้อยแล้วว่า"ใคร"ต้องเป็นฝ่ายเล่นเกมของใคร และ"ใคร" ต้องเดินตามเส้นทางที่ถูกขีดเอาไว้เพราะหลักใหญ่ใจความที่ต้องเงี่ยหูฟัง นาทีนี้คือ สัญญาณจาก พล.อ.ประวิตรว่านอกเหนือไปจากการจับนักการเมืองให้มาลงสัตยาบันกันแล้ว จะยังเปิดทางให้ไฟเขียวเรื่องอื่นๆ แก่ฝ่ายการเมืองด้วยหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดทางให้พรรคการเมืองสามารถจัดกิจกรรมทางการเมืองได้ เปิดประชุมพรรคได้ แต่แล้วบิ๊กป้อม ได้ย้ำชัดว่า "ไม่จำเป็น" เพราะไม่ใช่เป็นการ "ขอมติ" หรือต้องการการตัดสินใจในภาพรวมของพรรค เพียงแต่ต้องการความเห็นว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความสงบสุขหลังการเลือกตั้งได้บ้าง ? นั่นหมายความว่านอกเหนือไปจากการบีบให้นักการเมืองต้องทำ MOU แล้วยังไม่ยอม "ให้" ในสิ่งที่ถูกร้องขอ และที่สำคัญบิ๊กป้อม ยังยืนยันชัดเจนว่า "กองทัพ" ไม่จำเป็นต้องทำ MOU เพราะทหารไม่ใช่ "คู่ขัดแย้ง" หากแต่ดำรงสถานะเป็น "คนกลาง" เป็นกรรมการ เพื่อยุติความขัดแย้งต่างหาก ไม่ว่าจะมีนักการเมืองจากขั้วพรรคเพื่อไทย จะพยายาม โยนโจทย์ลงมาเพื่อกดดันกองทัพ ด้วยการเรียกร้องให้ทำMOU เหมือนกับนักการเมือง ว่าจะไม่มีการยึดอำนาจอีกในอนาคต แต่งานนี้บิ๊กป้อม ไม่เอาด้วย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วกองทัพจะกลายเป็น "คู่ขัดแย้ง" เสียเองและที่สำคัญไปกว่านั้น จะทำให้ปฏิบัติการสร้างความปรองดองมีอันต้องสะดุดเพราะ "คนกลาง" เป็นฝ่ายถูกกดดันกันตั้งแต่ต้นมือ อย่างไรก็ดี การดำรงตนเป็นกรรมการห้ามมวยสำหรับ คสช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร ในยามที่สถานการณ์การเมืองกำลังเดินหน้าเข้าสู่ช่วงของการเปลี่ยนผ่าน โดยมี "ธง" อยู่ที่การเลือกตั้งรอบหน้า ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เป็นความสำคัญทั้งในด้านสาระ กลยุทธ์ ไปจนถึงการดำรงท่าที ดำเนินบทบาทของ "กองทัพ" บนภารกิจการสร้างความปรองดอง ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง เพราะไม่เช่นนั้นแล้วการกลับมายึดอำนาจรอบใหม่ สำหรับกองทัพอาจไม่ใช่เรื่องง่ายดายหรือ "ประชาชน" สนับสนุนเหมือนที่ผ่านมาอีก ก็เป็นได้ ว่ากันว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ยังไม่สำคัญเท่ากับการบริหารจัดทั้งอำนาจและการกุมบทบาทที่สามารถ "ได้ใจ" ประชาชนของกองทัพ ในฐานะ "กรรมการ" หรือ "อัศวินม้าขาว"ที่เข้ามายุติความขัดแย้งทางการเมือง โดยนักการเมือง นั่นเอง !