การหวนคืนสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี รอบสองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นดูเหมือนง่ายแต่ก็เต็มไปด้วยอุปสรรค และบททดสอบอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการกลับมาตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เปลี่ยนจากทหารมาเป็นนักการเมืองเต็มตัว หนทางต่อจากนี้จะยิ่งเต็มไปด้วยขวากหนามนานับประการ ที่เรียงหน้ากันเข้ามาท้าทาย ทั้งการบริหารราชการแผ่นดิน และการจัดการกับนักการเมืองที่เพิ่งออกจากขวดโหลดองมากว่า 5 ปี ทั้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ย้อนเส้นทางของนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ผู้นี้ พล.อ.ประยุทธ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2497 เป็นชาวจังหวัดนครราชสีมา เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 และเป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23 หลังจบจากรั้วโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในปี พ.ศ. 2519 พล.อ.ประยุทธ์ เข้ารับราชการครั้งแรกในยศ ร.ต.ที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือที่มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าหน่วย “ทหารเสือราชินี” และได้ผ่านการอบรมหลักสูตรทางทหารต่างๆ เช่น หลักสูตรจู่โจม (เสือคาบดาบ) รุ่นที่ 39 หลักสูตรส่งทางอากาศ รุ่นที่ 94 และหลักสูตรหลักประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 63 ก่อนได้ขึ้นเป็นผู้บังคับการกรมฯ และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ในปี พ.ศ. 2546 ในปี พ.ศ. 2548 พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับตำแหน่งเป็น รองแม่ทัพภาคที่ 1 ก่อนจะเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ในปีถัดมา ปี พ.ศ. 2553 พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก คนที่ 37 หลังจากเกิดวิกฤติการเมืองห้วงปี 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และนำไปสู่การชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของกลุ่มกปปส. เปิดปฏิบัติการชัตดาวน์ประเทศไทย ทำให้ส่ผลกระทบอย่างกว้างขวาง กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งจากกรณีแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม แต่การชุมนุมประท้วงยังคงดำเนินต่อไป ในที่สุดกองทัพได้เข้าควบคุมสถานการณ์ โดยประกาศกฎอัยการศึก และเป็นคนกลางจัดเวทีประชุม 7 ฝ่ายเพื่อหาทางออกของสถานการณ์ แต่ไม่สามารถเจรจากันได้ ที่สุดพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการณ์ในขณะนั้นในวันที่ 22 พ.ค.2557 โดยพล.อ.ประยุทธ์ เข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศเอง เพื่อสร้างความปรองดอง และยุติความขัดแย้งแตกแยก และแหกกฎเหล็กรัฐประหาร ที่มักจะอยู่บริหารประเทศเป็นระยะเวลาไม่นานแล้วปล่อยให้มีการเลือกตั้ง แต่พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐบาลอยู่บริหารประเทศมานานกว่า 5 ปี และกลับเข้ามาสู่อำนาจอีกครั้ง ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านการเลือกตั้ง ในบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ที่ทุกย่างก้าวต่อจากนี้ของเขาจะถูกจับตาทุกระยะ ในสายตาของทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหวเรื่องประชาธิปไตย