การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ใช้เวลายาวนานหลายชั่วโมงเพื่อพิจารณาวาระการเลือก "นายกรัฐมนตรีคนที่30" แต่ดูเหมือนว่าไม่มีบทสรุป นอกจากมีปรากฎการณ์ "ลองของ" ลองเชิงกันระหว่าง "ขั้วการเมือง"
ทั้งขั้วที่เชียร์ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับฝ่ายที่ต่อต้านคสช. ผ่านการอภิปรายทั้งสนับสนุนและต่อต้าน "2แคนดิเดต" ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ และ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคอนาคตใหม่และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
และยังต้องไม่ลืมว่าการประชุมรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คนและสมาชิกวุฒิสภาอีก 250คน ต่างต้องทำหน้าที่ในวาระสำคัญ คือการโหวตเลือกนายกฯคนที่ 30 ในท่ามกลางบรรยากาศการเมืองและการประชุมที่แม้ไม่ถึงกับตึงเครียด แต่กองเชียร์ของทั้งสองฝ่าย "ประมาท"ไม่ได้ เพราะการประชุมรัฐสภาได้กลายเป็นเวทีที่ต่างฝ่ายต่างฉวยจังหวะ "โจมตี"อีกฝ่ายหนึ่ง
พรรคอนาคตใหม่ ยังคงถูกตั้งข้อสังเกตและโจมตีด้วยประเด็นอันเปราะบาง ที่ว่าด้วยเรื่องของ "สถาบัน" ส่วนตัวของธนาธร เองถูกสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และสว.ที่ประกาศหนุนพล.อ.ประยุทธ์ "เขย่า" ด้วยเรื่องของ "คุณสมบัติ" อีกทั้งยังมีคดีความที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ "ศาลรัฐธรรมนูญ"
ขณะที่ตัวพล.อ.ประยุทธ์ เองถูกโจมตีด้วยเรื่องของการสืบทอดอำนาจ เผด็จการ การใช้ทุกช่องทางเพื่อหาทาง "อยู่ต่อ" !
เกมในห้องประชุมรัฐสภา ดำเนินไปตลอดทั้งวัน แม้จะไม่ถึงขั้นจืดชืดไร้รสชาติ แต่ใช่ว่า พรรคพลังประชารัฐ และโดยเฉพาะตัวพล.อ.ประยุทธ์ ไปจนถึงคสช.เองต้องมอร์นิเตอร์ ทุกความเคลื่อนไหว ทุกถ้อยคำที่พาดพิงไปตนเอง ก่อนที่จะอยู่ต่อไปจนถึงตลอดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่จะทวีความเข้มข้น และดุเดือดมากกว่าวันโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่
สำหรับพรรคอนาคตใหม่เอง ต้องยอมรับว่าวันนี้ได้กลายเป็นพรรคการเมืองที่มีความโดดเด่น อย่างชัดเจน ทั้งในแง่ของการเป็นพรรคหน้าใหม่แต่สามารถแจ้งเกิดได้ทั้งในสนามเลือกตั้ง มีโอกาสได้เข้าสู่เวทีสภาฯ และที่สำคัญไปกว่านั้นคือการที่หัวหน้าพรรค อย่างธนาธร ได้รับแรงผลักดันจาก "พรรคเพื่อไทย"ในฐานะพรรคที่ได้ส.ส.มากเป็นอันดับ1 ชูให้เป็นแคนดิเดตนายกฯชิงกับพล.อ.ประยุทธ์
อย่างไรก็ดี ทุกความเคลื่อนไหว ทุกการอภิปราย ตลอดจนการชิงไหวชิงพริบเกมในการประชุมรัฐสภาในรอบนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังจะประเมินและมองต่อไปได้ถึงการดำรงอยู่ในตำแหน่ง "นายกฯ" ของตนเอง จากนี้ไปว่า "อะไร" คือปัญหาที่เขาเองต้องเผชิญหน้าบ้าง
แต่สิ่งที่สะท้อนชัดเจนมากที่สุด ครั้งนี้ คือการที่พรรคพลังประชารัฐและคสช.เองมองเห็นแล้วว่า "คู่ต่อสู้" ที่บัญชาการมาจาก "แดนไกล" นั้นได้ปรับเปลี่ยน "แผนการเล่น" อย่างไรบ้าง ยิ่งเมื่อได้เห็นการทำงานของพรรคอนาคตใหม่ ในรัฐสภารอบนี้ ยิ่งทำให้พอที่จะวางใจได้แล้วว่า "ตัวเล่นใหม่" บนกระดานการเมืองนั้นไฉไลกว่าพรรคเพื่อไทยหลายเท่า !