สถาพร ศรีสัจจัง คนหนุ่มสาวไทยที่เริ่มเข้าเรียนมหาวิทยาลัยสักช่วงต้นทศวรรษ 2510 (ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516) และสนใจอ่านหนังสือประเภทนิตยสารอยู่บ้าง ย่อมจำได้ว่า ในช่วงยามนั้นเองที่ “สัญลักษณ์แห่งนักปฏิวัติหนุ่ม” นาม “เช เกวารา” (หรือ “เช กูวารา” ในขณะนั้น) พุ่งวาบพาดเป็นลำแสงนำทางดั่งรุ้งสายที่รายฟ้าให้แจ่มตาแจ่มใจ เติมพลังฝันไฝ่ถึงโลกใหม่ที่ดีกว่าให้วาบสว่างขึ้นในมโนทัศน์ของคนหนุ่มสาวไทย บทความที่มีเนื้อหา “เชิงเก็บเรื่องมาเล่า” ในนิตยสาร “วิทยาสาร” เรื่องหนึ่งที่ชื่อ “เมื่อ “เช” ไปตายที่โบลิเวีย” โดยผู้เขียนนาม “วิทยากร เชียงกูร” เศรษฐศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยมหนุ่มจากรั้วธรรมศาสตร์ผู้กำลังโด่งดังจากบทกลอน “ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง/ฉันจึง มาหา ความหมาย/ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย/สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว” คนนั้น นั่นเองที่เป็นประกายไฟจ่อจุดในดวงตาหนุ่มสาวไทยให้ย่างเท้าก้าวตามเส้นทาง ถึงวันนี้ คนที่สนใจเกี่ยวกับการปฏิวัติสังคมมนุษย์เพื่อบรรลุเป้าหมาย “เสรีภาพ เสมอภาค และ ภราดรภาพ” ทั้งหลาย คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักนามของ “แรงบันดาลใจแห่งการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม” นาม “เช เกวารา” อีกแล้ว ในขณะที่ “รูปลักษณ์ต้นแบบ” ที่เป็นงานกราฟิคซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดในการนำไปใช้ภาพหนึ่งของโลก กลับปรากฏให้เห็นทั่วไป ตั้งแต่หน้าห้องน้ำสาธารณะ ในร้านเหล้าเพื่อชีวิต ในห้องนอนวัยรุ่น แต่ที่มากสุดน่าจะเป็น สติกเกอร์ที่ติดแน่นยาวนานอยู่หลังรถสิบล้อ! จนกระทั่งมีการนำสโลแกน “เช ยังมีชีวิตอยู่!” ( Che still alive !) ซึ่งเป็นคำขวัญปลุกใจยอดฮิตของนักเดินขบวนยุคอเมริกันชนเดินขบวนต่อต้านสงครามเวียดนาม และ ได้รับการสืบสานจากคนหนุ่มสาวทั่วโลก ต่อมาอีกยาวนาน มาล้อเลียนในยุค “สิทธิมนุษยชนระบาด” อย่างในช่วง 2-3 ทศวรรษร่วมสมัยปัจจุบัน ว่า “เช ยังมีชีวิตอยู่หลังรถ 10ล้อ!” หรืออะไรทำนองนั้น ! เรื่องนี้ก็สะท้อนถึงเนื้อหาวิธีคิดของคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะในหมู่ปัญญาชนคนชั้นกลาง ที่มีความสุขอยู่ในกระแส “โพสต์ โมเดิร์น” ในสังคมทุนนิยมล้าหลังแบบสังคมไทยปัจจุบันได้เช่นกัน ว่ามีรากหรือมีกึ๋นกันอย่างไรบ้าง! เขียนถึง “เช” วันนี้ เพียงเพราะบังเอิญได้อ่านกลอนบทหนึ่งในบางแหล่ง จึงทำให้ทราบว่า ปีนี้เป็นปีครบชาตกาล 90 ปีของ “นักปฎิวัติหนุ่มตลอดกาล” ผู้เข้าร่วมกับขบวนปฏิวัติของฟิเดล คาสโตร จนปฏิบัติประเทศคิวบาสำเร็จ แล้วจึงประกาศตัวเป็นสัญชาติ “ลาตินอเมริกา” คนนั้น (ไม่ได้เป็นเฉพาะสัญชาติอาเจนตินาซึ่งเป็นประเทศที่ตนถือกำเนิด) และ เห็นว่าอาจมีใครที่เป็นแฟนคลับของ “เช” ยังไม่ได้อ่านกลอนบทดังกล่าว จึงนำมาฝากกันก็เท่านั้น! (ส่วนใครที่ชอบ อยากนำไปใช้ประโยชนอื่นใดก็ขอเชิญ ผู้เขียนคงไม่หวงกระมัง) กลอนชิ้นดังกล่าวชื่อ “เช ยังมีชีวิตอยู่!” ( CHE still alive!) มีความละเอียดดังนี้ : “...คือนายแพทย์ ‘เออร์เนสโต เกวารา’/ชาวลาตินอเมริกาผู้กล้าหาญ/นักปฏิวัติยิ่งใหญ่ในตำนาน/อันเลื่องชื่อลือขานจวบปัจจุบัน/เก้าสิบปีชาตกาลล่วงผ่านแล้ว/แต่จิตใจแน่แน่วแห่งนักฝัน/ยังเจิดจ้าผลิปลั่งดั่งดวงตะวัน/ที่คงมั่นไม่ดิ่งดับลงลับลา/เป็นต้นแบบเป็นแรงดาลคนหาญมุ่ง/เพื่อผดุงยุติธรรมอันล้ำค่า/ทุ่มอุทิศจิตใจให้มวลประชา/ได้ลืมตาอ้าปากจากอธรรม/ได้หลุดพ้นหล่มแล้งจากแรงกด/ที่ “ชนชั้น’ กำหนดให้สูงต่ำ/ให้ลุกร่วมทายท้าชะตากรรม/ที่หนุนค้ำปลูกสร้างโดยทางทุน/ได้มีสิทธิ์มีเสียงเยี่ยงมนุษย์/ได้รู้เกิดรู้ผุดรู้อิ่มอุ่น/รู้เอื้อให้ รู้เมตตา รู้การุณ/เพื่อปลดบาปเพิ่มบุญ เลิกเบียดบัง/คือนายแพทย์ ‘เออร์เนสโต เกวารา’/“เช” คือฉายา ชื่อจัดตั้ง/คือต้นแบบสูงส่งทรงพลัง/คือต้นแบบคนหวังสังคมดี/ “ถ้าตัวสั่นทุกครั้งเมื่อฟุงข่าว/ว่าเกิดเรื่องเกิดราวในทุกที่/คือเกิดความอยุติธรรมเข้าย่ำยี /ต่อผู้ถูกกดขี่ต่อมวลประชา/คุณก็คือเพื่อนมิตรสนิทผม..!”/คือคำกล่าวแสนคมสุดเข้าท่า/ที่ถูกสืบเป็นตำนานเล่าขานมา/คู่ชื่อ “เช เกวารา” นักฝันไกล!/ฝันถึงวันโลกหมดการกดขี่/ประชาราษฎร์เสรีได้เป็นใหญ่/กรรมาชีพประชาชาติประกาศชัย/ปลดทางทาสเปิดทางไทไปเสรี!/คือ “เช เกวารา” คนกล้าสู้/เกิดเพื่อกู้ใจไทในทุกที่/ถูกฆ่าแล้ว แต่โลกคงดำรงวลี/ “เช ยังมีชีวิตอยู่!” เพื่อสู้อธรรม!!...” ถ้าไม่มีใครอยากฟังกลอนบทนี้ ก็ขอให้ถือเสียว่า ใครคนใดคนหนึ่งในประเทศไทยที่น่าสงสารแห่งนี้อยากฝากเป็นกำลังใจให้กับชาวพรรคอนาคตใหม่ (ที่ไม่รู้อยู่ในเส้นทางนี้หรือเปล่า?) ในโอกาสที่หัวหน้าพรรคฯได้รับการเสนอชื่อให้เป็นตัวล่อเป้า...เอ้ย..ขอโทษ,ไม่ใช่! ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยก็แล้วกันเนาะ!!!!