ทองแถม นาถจำนง ประเด็นปัญหาที่ว่า ต้นตอสำคัญของปัญหาทางสังคมมาจาก “ความเหลื่อมล้ำ” นั้นไม่ใช่เรื่องให่เลย สังคมไทยพูดกันประเด็นนี้มานานแล้ว ประเด็นปัญหาที่กำลังเรียกร้องกันเรื่อง “ความเท่าเทียม” แล้วลากโยงไปว่า การโหวตเลือกตั้งหนึ่งคน หนึ่งเสียง นั้นแสดงถึง “ความเท่าเทียม” ก็มิใช่เรื่องใหม่อีกเช่นกัน สังคมไทยเราเคยพูดกันประเด็นนี้มานานแล้ว ประเด็นปัญหาว่าด้วยเรื่องความเสมอภาคทัดเทียมกันทางเศรษฐกิจ เป็นหลักประกันของเสรีภาพ ก็มิใช่เรื่องใหม่ ๆ อีกเช่นกัน เมื่อ พ.ศ.2500 ครึ่งศตวรรษมาแล้ว มีผู้อ่านเขียนจดหมายมาถาม ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่า “หม่อมมีความเห็นอย่างไร เกี่ยวกับหลักของพลาโตที่ว่ามนุษย์ควรมีเสรีภาพความเป็นอยู่เท่าเทียมกัน ควรจะแตกต่างกันบ้างตามส่วนของสติปัญญา หรือหม่อมเห็นว่าเสรีภาพในด้านอื่น ๆ เช่น เสรีภาพในการเขียน การพูด โฆษณา สำคัญกว่า ส่วนเสรีภาพในความเป็นอยู่ควรปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม การที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งต้องมีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นอดอยาก มาตรฐานการครองชีพเลวร้าย แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือย มีมรดกสะสมไว้ให้ลูกหลานไว้ใช้กันชั่วโคตร หม่อมเห็นว่าลักษณะความแตกต่างแห่งความเป็นอยู่เช่นนี้เป็นเสรีภาพโดยสมบูรณ์แล้วหรือ ในโลกเสรีเมื่อรัฐจะตรากฎหมายอะไร ก็อ้างเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แค่เสรีภาพก็ยังคงถูกจำกัดเช่นเดียวกัน เช่น บังคับให้เป็นทหาร เรียนหนังสือ และเสียภาษี อะไรต่ออะไรมากมาย ซึ่งก็ใช้ข้ออ้างเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่ถ้าจะตัดทอนเสรีภาพ เพื่อความอยู่ดีกินดีของส่วนรวมบ้าง ก็ถูกบุคคลกลุ่มหนึ่งกีดกัน อาจจะเป็นเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ใช่หรือไม่ บางคนก็รับมรดกของสังคมหรืออิทธิพลของโฆษณาชวนเชื่อไว้เต็มเปา จริงไหม เวลานี้ผมเชื่อว่าชาวไทยเราทุกคน คงอยากจะมีความสุขสบายเหมือน ๆ กัน ฉะนั้นถ้าจะมีหน้าอินทร์หน้าพรหมไหนมาแก้ให้เขาสุขสบาย อยู่ดีกินดี ไล่เนี่ยกันไม่ต่ำต้อยราวกับฟ้ากับดิน ทั้ง ๆ ที่เกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกันแล้ว เป็นใช้ได้ จะต้องมาสวดมนต์กันทำไมว่าคอมมูนิดคอมมูหน่อย ขออย่างเดียวว่า อย่าเอาความรู้ขนานแท้และ ดั้งเดิมงัดขึ้นมาใช้ เป็นการทดลองภูมิหรือเริ่มบทเรียนใหม่เท่านั้น ชาวอีสานที่ผมอยู่ขณะนี้ กรอบจนโซไปเลยแล้ว ขณะนี้หม่อมยังมีใจรักระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาหรือเปล่า ? อาจารย์หม่อมตอบว่า “อย่างนี้เรียกว่าความเสมอภาคเห็นจะดีกว่า ความเสมอภาคในทางเศรษฐกิจ คือระดับแห่งความเป็นอยู่ที่เท่าเทียมกันในสังคมนั้น เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาที่สุด ผมเองก็ใฝ่ฝันอยู่เป็นนิจ เพราะเมื่อมีความเสมอภาคดังนี้แล้ว เสรีภาพอันแท้จริงจึงจะเกิดขึ้น คือเสรีภาพในการพูด การเขียน การแดงความคิดเห็น จะตามมา ตลอดจนเสรีภาพที่จะใช้ความรู้ความสามารถของตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม สังคมเราทุกวันนี้มีเงินเป็นอำนาจ ตราบใดที่ความแตกต่างในฐานะเศรษฐกิจยังมีระดับอันเหลื่อมล้ำกันมากมายเช่นนี้ เงินก็มีอำนาจปิดปากได้ กำจัดเสรีภาพต่าง ๆ ได้ และใครขาดเงินก็ขาดโอกาสที่จะทำการได้เต็มที่ตามความสามารถของตน มรดกของสังคมนั้นเรารับไว้ปะปนกันหลายอย่าง ควรเลือกคัดเก็บเอาไว้แต่สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ ไม่ควรรับไว้ทั้งดุ้น ว่าโดยทั่วไปแล้ว ผมมีความเห็นตรงกับคุณในข้อนี้” (“ตอบปัญหาประจำวัน” วันที่ 2 ตุลาคม 2500) บางรัฐบาลก็อ้างการลดความเหลื่อมล้ำ เข้าไปกุมการดำเนินการทางเศรษฐกิจเสียเองโดยตรง หวังว่าจะช่วยให้พลเมืองผู้มีฐานะเศรษฐกิจไม่ดี เปลี่ยนแปลเพราะมีรายได้สูงขึ้น อย่างการรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าท้องตลาดของรัฐบาลเพื่อไทย มันมิใช่แค่ขั้นตอนรับจำนำ มันกลายเป็นว่า “รัฐ” เกือบจะผูกขาดการค้าข้าว เพราะรัฐเป็นผู้ซื้อข้าวเก็บไว้มากที่สุด แล้วสุดท้าย ต้องขาดทุน...วายป่วง การที่รัฐเข้าไปดำเนินการทางเศรษฐกิจเองนั้น มิใช่เรื่องผิดครับ มันอาจจะเกิดผลดี หรือเกิดผลเสียก็ได้ ตัวชี้ขาดมันมิได้ชี้ขาดที่ระบบ หากแต่ชี้ขาดที่ “คน” ผู้ปฏิบัติ ต่างหาก ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ความเห็นเกี่ยวกับการที่รัฐจะเข้าไปดำเนินการทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจว่า “ผมพูดมาแล้วหลายครั้งหลายหนว่า การที่รัฐจะเข้าไปดำเนินการทางเศรษฐกิจนั้น หากบุคคลที่มาประกอบกันเป็นรัฐ ยังมีความโลภ ยังพร้อมที่จะหาประโยชน์ใส่ตัวแล้ว ก็ยิ่งร้ายหนักขึ้นไปอีก เพราะราษฎรจะกลายเป็นทาสของรัฐ หรือบุคคลที่เป็นรัฐนั้นไป ด้วยเหตุนี้เมืองไทยจึงยังทำไม่ได้ แต่ก็มิใช่ว่าจะนั่งงอมืองอเท้า ปล่อยไปตามยถากรรม ระยะเวลานี้เป็นระยะเวลาที่จะต้องสร้างคนดี เป็นเวลาที่จะต้องชำระล้างบ้านเมืองให้บริสุทธิ์ เมืองไทยเรามีน้ำมนตร์อันศักดิ์สิทธิ์ที่จะชำร้างทุกสิ่งทุกอย่างให้บริสุทธิ์อยู่แล้ว คือศาสนาพุทธ แต่เราไม่เอามาใช้ เพราะเราเห็นว่าเป็นเรื่องไม่เข้าใจ เป็นเรื่องหนักสมอง ควรเก็บไว้ในวัด ผมจึงเริ่มประกาศพระศาสนานอกวัด ด้วยวิธีเอาของที่รู้เห็นอยู่ใกล้ตัวมาปรับเข้ากับหลักศาสนาพุทธ ชี้ให้เห็นไตรลักษณ์บ้าง ชี้ให้เห็นกรรมและผลของมันบ้าง ทำไปตามสติปัญญาความรู้ซึ่งมีไม่มากนัก” แนวทางการแก้ไขเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทัดเทียมทางเศรษฐกิจนั้น นักวิชาการ,นักการเมือง เขียนวิธีการเสนอกันไว้มาก แต่เชื่อเถิด ถ้าไม่มีคนที่กลัวบาปกลัวกรรมเข้ามาทำ ก็ไม่มีทางสำเร็จ ทุกวันนี้ หาคนที่ไม่คิดโกงได้ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรเสียอีกครับ.