ทวี สุรฤทธิกุล คำกราบบังคมทูล ร.ศ. 103 มีรายละเอียดดังนี้ ในส่วนแรกกล่าวถึง “ภัยอันตรายที่จะมาถึงบ้านเมือง” คือ ภัยอันตรายที่จะมีมาจากประเทศที่มีอำนาจมากกว่าประเทศไทย ซึ่งคณะผู้ถวายคำกราบบังคมทูลฯหมายถึงมหาอำนาจในยุโรป คืออังกฤษและฝรั่งเศส ที่กำลังไล่ล่าเมืองขึ้นอยู่ในภูมิภาคแถบนี้ โดยกล่าวไว้ว่า “ถ้ามหาอำนาจในยุโรปประสงค์จะได้เมืองใดเป็นอาณานิคม ก็จะต้องอ้างเหตุผลว่าเป็นภารกิจของชาวผิวขาว ที่มีมนุษยชาติต้องการให้มนุษย์มีความสุขความเจริญ ได้รับความยุติธรรมเสมอกัน ประเทศที่มีการปกครองแบบเก่านอกจากจะกีดขวางความเจริญของประเทศในเอเซียแล้ว ยังกีดขวางความเจริญของประเทศที่เจริญรุ่งเรืองแล้วด้วย รัฐบาลที่มีการปกครองแบบเก่าจัดการบ้านเมืองไม่เรียบร้อยเกิดอันตราย ทำให้อันตรายนั้นมาถึงชาวยุโรป นับว่าเป็นช่องทางที่ชาวยุโรปจะเข้าจัดการให้หมดอันตราย และอีกประการหนึ่ง ถ้าปิดประเทศไม่ค้าขาย ก็จะเข้ามาเปิดประเทศค้าขายให้เกิดประโยชน์ ทั้งหมดเป็นเหตุผลที่ประเทศในยุโรปจะยึดเอาเป็นอาณานิคม” ในส่วนต่อมากล่าวถึง “การป้องกันอันตรายที่จะบังเกิดขึ้นอยู่หลายทาง แต่ที่คิดว่าใช้ไม่ได้ คือ 1. การใช้ความอ่อนหวานเพื่อให้มหาอำนาจสงสาร ประเทศญี่ปุ่นได้ใช้ความอ่อนหวานมานานแล้ว จะเห็นว่าไม่ได้ประโยชน์ จึงได้จัดการเปลี่ยนการบริหารประเทศให้ยุโรปนับถือ จึงเห็นว่าการใช้ความอ่อนหวานนั้นใช้ไม่ได้ 2. การต่อสู้ด้วยกำลังทหารซึ่งก็เป็นความคิดที่ถูกต้อง กำลังทหารของไทยมีไม่เพียงพอ ทั้งยังต้องอาศัยซื้ออาวุธจากต่างประเทศ ได้รบกันจริงๆ กับประเทศในยุโรป ประเทศอื่นๆ ที่เป็นมิตรประเทศของคู่สงครามกับประเทศไทยก็จะไม่ขายอาวุธให้กับประเทศไทยเป็นแน่ 3. การอาศัยประโยชน์ที่ประเทศไทยมีเขตแดนติดต่อกับประเทศที่เป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษและประเทศฝรั่งเศส ประเทศอังกฤษและประเทศฝรั่งเศสอาจให้ประเทศไทยเป็นรัฐกันชน (Buffer State) และคงให้มีอาณาเขตเพียงเป็นกำแพงกั้นระหว่างอาณานิคม ประเทศไทยก็จะเดือดร้อนเพราะเหตุนี้ 4 การจัดการบ้านเมืองเพียงเฉพาะเรื่อง ไม่ได้จัดให้เรียบร้อยตั้งแต่ฐานราก ไม่ใช่การแก้ปัญหา 5. สัญญาทางพระราชไมตรีที่ทำไว้กับต่างประเทศ ไม่เป็นหลักประกันว่าจะคุ้มครองประเทศไทยได้ ตัวอย่างที่สหรัฐอเมริกาสัญญาที่จะช่วยประเทศจีน ครั้นมีปัญหาเข้าจริงก็มิได้ช่วย และถ้าประเทศไทยไม่ทำสัฯญญาให้ผลประโยชน์แก่ต่างประเทศ ประเทศนั้นๆ ก็จะเข้ามากดขี่ให้ประเทศไทยทำสัญญานั่นเอง 6. การค้าและผลประโยชน์ของชาวยุโรปที่มีอยู่ในประเทศไทย ไม่อาจช่วยคุ้มครองประเทศไทยได้ถ้าจะจะมีชาติที่หวังประโยชน์มากขึ้นมาเบียดเบียน 7. คำกล่าวที่ว่า ประเทศไทยรักษาเอกราชมาได้ก็จะจะคงรักษาได้อย่างเดิม คำกล่าวอย่างนั้นใช้ไม่ได้ในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งเป็นเวลาที่ประเทศในยุโรปกำลังแสวงหาเมืองขึ้น และประเทศที่ไม่มีความเจริญก็ตกเป็นอาณานิคมไปหมดแล้ว ถ้าประเทสไทยไม่แก้ไขก็อาจจะเป็นไปเหมือนประเทศที่กล่าวมา 8. กฎหมายระหว่างประเทศจะคุ้มครองประเทศที่มีความเจริญและมีขนบธรรมเนียมคล้ายคลึงกัน ประเทศญี่ปุ่นได้แก้ไขให้คล้ายกับยุโรปก็จะได้รับความคุ้มครอง ประเทศไทยต้องปรับปรุงการจัดบ้านเมืองให้เป็นที่ยอมรับเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น มิฉะนั้นกฎหมายระหว่างประเทศก็ไม่ช่วยให้ประเทศไทยพ้นอันตราย ในส่วนสุดท้ายของหนังสือคำกราบบังทูลฯ ได้ขอพระราชทานความเห็นที่เรียกว่า “การจัดการบ้านเมืองแบบยุโรป” รวม ๗ ข้อ คือ 1. ให้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากแอบโซลูดโมนากี (Absolute Monarchy) ให้เป็นการปกครองที่เรียกว่าคอนสติติวชั่นแนลโมนากี (Constitutional Monarchy) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นประธานของบ้านเมือง มีข้าราชการรับสนองพระบรมราชโองการ เหมือนสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ในยุโรป ที่มิต้องทรงราชการทั่วไปทุกอย่าง 2. การทำนุบำรุงแผ่นดินต้องมีคาบิเนต (Cabinet) รับผิดชอบ และต้องมีพระราชประพณีจัดสืบสันตติวงศ์ให้เป็นที่รู้ทั่วกัน เมื่อถึงคราวเปลี่ยนแผ่นดินจะได้ไม่ยุ่งยาก และป้องกันไม่ให้ผู้ใดคิดหาอำนาจเพื่อตนเองด้วย 3.ต้องหาทางป้องกันคอรัปชั่นให้ข้าราชการมีเงินเดือนพอใช้ตามฐานานุรูป 4. ต้องให้ประชาชนมีความสุขเสมอกัน มีกฎหมายให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนทั่วไป 5. ให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขขนบธรรมเนียมและกฎหมายที่ใช้ไม่ได้ที่กีดขวางความเจริญของบ้านเมือง 6. ให้มีเสรีภาพในทางความคิดเห็นและให้แสดงออกได้ ในที่ประชุม หรือในหนังสือพิมพ์ การพูดไม่จริงจะต้องมีโทษตามกฎหมาย 7. ข้าราชการทุกระดับชั้นต้องเลือกเอาคนที่มีความรู้ มีความประพฤติดี อายุ 20 ขึ้นไป ผู้ที่เคยทำชั่วถูกถอดยศศักดิ์ หรือเคยประพฤติผิดกฎหมาย ไม่ควรรับเข้ารับราชการอีก และถ้าข้าราชการที่รู้ขนบธรรมเนียมยุโรปได้ยิ่งดี (ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย พจนานุกรมเสรี https://th.wikipedia.org/wiki/ความเคลื่อนไหวสู่การปฏิวัติสยาม) ถึงตรงนี้ขอเทียบเคียงกับแนวคิดในการปฏิรูปประเทศของ คสช.ในทุกวันนี้สักเล็กน้อย ที่คิดวางยุทธศาสตร์ไปถึง 20 ปี และตั้งเป้าหมายว่าจะประสบความสำเร็จใน 60 ปี ว่า “คิดมากไป” หรือไม่ ในสมัยนั้นผู้คนที่ “ฉลาดที่สุด” ในสังคมอย่างคณะผู้กราบบังคมทูลฯนี้ก็ยังไม่กล้ากำหนดเวลา แต่เสนอให้ทำทันที ก็จะประสบความสำเร็จไปทีละขั้นละตอน การกำหนดระยะเวลาอะไรไว้ยาวๆ ก็เหมือน “ความสิ้นหวัง” คนไทยเขาไม่รออะไรยาวๆ หรอกครับ แม้จะเชื่อใน “ชาตินี้ – ชาติหน้า” ก็ตามที เพราะหลังจากนั้น 27 ปีก็เกิดกบฏครั้งแรกขึ้นในประเทศไทย