แสงไทย เค้าภูไทย
กระแสกัญชาฟีเวอร์วันนี้เคลื่อนไปสู่การเรียกร้องให้ยกเลิกสถานภาพยาเสพติดผิดกฎหมาย โดยยกข้ออ้างบุหรี่และสุราที่ป็นสิ่งเสพติดถูกกฎหมายมาเปรียบเทียบ
การรณรงค์ยกเลิกกัญชาจากยาเสพติดดูคล้ายกับเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในอันที่จะให้กัญชาเป็นยาที่ผู้เจ็บป่วยสามารถเข้าถึงได้
แต่มองมุมต่าง ผลที่ตามมาจะร้ายกว่าการอยู่ในสถานภาพเดิมมาก
มีการนำไปเทียบกับบุหรี่และสุราที่เป็นสิ่งเสพติดที่ไม่ผิดกฎหมาย
บุหรี่นั้น ขณะนี้ทั่วโลกพบพิษภัยของมันและพากันรณรงค์ต่อต้าน โดยตั้งวันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) ปลุกจิตสำนึกในการต่อต้านบุหรี่ กำหนดวันที่ 31 พ.ค.ทุกปี เพิ่งผ่านไปไม่กี่วัน
สำหรับเมืองไทย ก็มีการรณรงค์ในหลายด้าน
โดยเฉพาะกรมสรรพสามิต ซึ่งมีรายได้จากภาษีบุหรี่และสุราปีละกว่าแสนล้านบาทนั้น
เปิดเผยข้อมูลว่า ภาษีและผลประโยชน์ที่ได้จากยาสูบหรือบุหรี่นั้นไม่คุ้ม
บุหรี่สร้างผลประโยชน์ให้แก่รัฐในรูปของ ภาษีสรรพสามิตกว่า 7 หมื่นล้านบาทต่อปี รายได้เกษตรกรปลูกยาสูบ 2 หมื่นคน ลูกจ้างและวงจรการค้าบุหรี่ นับแสนคน ฯลฯ
แต่ต้องเสียค่ารักษาผู้ป่วยมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง และโรคอื่นๆที่เกิดจากการสูบบุหรี่คิดเป็นมูลค่ามหาศาล
โดยเฉพาะชีวิตของผู้สูบบุหรี่ที่ไม่อาจตีค่าเป็นเงินได้
แต่ทำไมยังให้บุหรี่ถูกกฎหมายอยู่ ?
มีหลายประเทศเป็นเมืองปลอดบุหรี่ (smoke-free cities) มีเมือง และ มหานครหลายแห่งทั่วโลกร่วมรณรงค์และเพิ่มจำนวนกว่า 100 แห่ง
โดยเฉพาะสหรัฐนั้น 12 รัฐแบนการสูบบุหรี่ในย่านชุมชน สถานที่สาธารณะ บางเมืองถึงกับห้ามสูบ 100% ทั้งเมือง
สำหรับไทย มาตรการล่าสุดคือเพิ่มอัตราภาษีบุหรี่เป็น 40% ตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้
ยังผลให้ราคาบุหรี่ 5 ยี่ห้อของโรงงานยาสูบปรับราคาจากซองละ 60 บาทป็น 93 บาท
น่าจะทำให้การสูบบุหรี่ลดลงมาก เพราะผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย เป็นแรงงาน ลูกจ้างระดับล่าง เกษตรกร วัยรุ่นที่ไม่มีรายได้ ฯลฯ
ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 320-330 บาท สัดส่วนที่ปรับขึ้น 10-20 บาทเท่านั้น ตามไม่ทันราคาบุหรี่
ถ้ายังขืนสูบ ก็จะเหลือรายได้ราว 227 บาท จะพอเลี้ยงดูครอบครัว หรือแม้แต่ตัวเองได้หรือ ?
ไม่เลิกก็ต้องเลิกหรืออย่างน้อยก็ลดครึ่ง
สำหรับเหล้า ภาษีสรรพสามิตเช่นกัน ขึ้นมาหลายละลอกแล้ว เหล้าขาวที่ขายดีที่สุด ยอดขายลดลง แรงงานที่กินยาดอง บำรุงกำลัง เจริญอาหาร ก็ลดขนาดลงตามราคาเหล้าอัตราภาษีใหม่
ในทางกลับกัน หากปลดกัญชาจากความเป็นสารเสพติดผิดกฎหมายมาเป็น สารเสพติดถูกกฎหมายอย่างบุหรี่และเหล้า อะไรจะเกิดขึ้น ?
แรกสุดคือ ประชากรกลุ่มแรงงานระดับล่าง เกษตรกร วัยรุ่น ชาวชุมชนแออัด ฯลฯ เหล่านี้จะเข้าถึงกัญชาก่อนกลุ่มอื่นๆ
กัญชานั้น หากใช้แบบสูบเอาควัน ร่างกายจะได้รับสารอันตรายตั้งแต่เนื้อเยื่อบุปาก หลอดลม จนถึงปอดสูงกว่าควันบุหรี่ 6 เท่าตัว
สหรัฐอเมริกา จึงออกข้อบังคับให้ผู้ผลิต/ขายกัญชาในรูปของยาสูบติดป้ายคำเตือนบนสลากปิดกล่อง/ซองทุกกล่อง/ซอง
มีข้อความว่า ! WARNING: SMOKING MAY CAUSE: CANCER,BIRTH DEFECTS, LUNG DAMAGE OR BRAIN DAMAGE”
คำเตือน การสูบกัญชาอาจเป็นเหตุให้เกิดมะเร็ง แท้ง ปอดถูกทำลายหรือสมองถูกทำลาย
น่าเอะใจที่คำว่า “มะเร็ง” นั้น บ้านเรากลับตื่นเต้นกับผลการรักษามะเร็งด้วยน้ำมันกัญชา
กัญชาในรูปยาสูบกับในรูปน้ำมันหรือยา ออกฤทธิ์ต่างกัน
ควันกัญชานั้นเป็นพิษกว่าบุหรี่มาก นาย David Peron ที่ได้ชื่อว่า “บิดาแห่งกัญชาชน” ของอเมริกาที่เสียชีวิตไปเมื่อมกราคมปีที่แล้ว ก็ด้วยมะเร็งปอดอันเเกิดจากการสูบกัญชานี่แหละ
บ้านเรามีรายได้จากภาษีบุหรี่ 71,009 ล้านบาท (ปี 61) แต่ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งของภาครัฐกว่าแสนล้านบาทต่อปี
สถิติปีที่แล้ว ผู้เสียชีวิตจากมะเร็งมี 8 หมื่นคนเศษ เป็นมะเร็งปอดถึง 20% ซึ่งเป็นมะเร็งที่เป็นสาเหตุการตายมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งตับ
อย่างไรก็ดี สารก่อมะเร็งจากควันกัญชานัั้น มาจาก THC
ขณะที่สาร CBD และCBN จากสารสกัดกัญชา ให้ผลทางตรงกันข้ามคือสามารถรักษามะเร็งปอดได้
ปัญหาจึงมีอยู่ว่า การปลดกัญชาจากยาเสพติดนั้้น จำเป็นสำหรับการใช้ทางการแพทย์หรือไม่ ?
ผูัรับผลพวงจากกัญชายาเสพติดไม่ผิดกฎหมายในรูปของยาสูบนั้น เห็นตัวตนกันอยู่แล้ว
แต่เงาทมึนที่อยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวกัญชานั้นเป็นใคร ?
เกษตรกร หรือนายทุน หรือผู้นำเข้า-ส่งออก
หรือนักการเมือง นายทุน ที่ซุ่มปลูกกันอยู่ในลาวกว่าพันไร่มีผลผลิตเป็นน้ำมันกัญชาเกือบ 200,000 กรัม พร้อมข้ามโขงมาไทย ?