ความท้าทายของโลกยุคดิจิตัล ที่องคาพยพต่างๆต้องปรับตัวเพื่อรับมือ และเตรียมความพร้อม ในส่วนของระบบการศึกษา จากการบรรยายของ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ตอนหนึ่งระบุว่า มหาวิทยาลัย Oxford ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ Times Higher Education World university Rankings ในปี 2017 - 2018 จากการนำเสนอการเรียน การสอนออนไลน์ระบบเปิดสำหรับมวลชน (massive open online course : MOOC) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ไม่จำกัดจำนวนคนเข้าเรียน และเป็นระบบเปิดสำหรับทุกคนที่อยากเรียนจะต้องได้เรียน โดยไม่เสีย ค่าใช้จ่ายในการเรียน โดย มหาวิทยาลัย Oxford ได้ร่วมมือกับ edX ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนออนไลน์ที่ก่อตั้งโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและสถาบัน MIT โดยมีหลักสูตร “From Poverty to Prosperity: Understanding Economic Development” เป็นที่น่าสนใจ และสามารถดึงดูดผู้ลงทะเบียนเรียนได้มากกว่า 47,000 ราย จากเกือบทุกประเทศทั่วโลก
หลังจากการเรียนการสอนระบบเปิดสำหรับมวลชน ก็ได้แพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็ว เช่น Coursera, edX และ Udacity ในสหรัฐอเมริกา และ FutureLearn ในสหราชอาณาจักร โดยในปี 2015 Coursera มีจำนวนผู้เรียนทั้งหมด 17 ล้านคนทั่วโลก
ในปี 2011 มหาวิทยาลัย Stanford ได้เปิดหลักสูตรออนไลน์ฟรีขึ้นมา 3 หลักสูตร สำหรับทุกคนที่มีการเชื่อมต่อเว็บ หนึ่งในนั้นคือ MOOC ที่สอนเรื่องปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสอนโดย Sebastian Thrun และ Peter Norvig โดยสามารถดึงดูดนักเรียนได้มากกว่า 160,000 คน เบื้องหลังของความสำเร็จนี้ Thrun และ Norvig ได้สร้าง Udacity ซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่สำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ จนในปัจจุบันความนิยมของหลักสูตรจากมหาวิทยาลัย Stanford เป็นแรงบันดาลใจ ให้มหาวิทยาลัยต่างๆ นำเสนอระบบ MOOC มากมายหลายแห่ง ซึ่งมีอีก 2 แพลตฟอร์มที่โดดเด่น ได้แก่ Coursera และ EdX โดย The New York Times ได้ประกาศเมื่อปี 2012 เป็นปีแห่ง MOOC
เมื่อเร็วๆนี้มีข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศที่น่าสนใจว่า เขตตงเฉิง ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงปักกิ่งส่งเสริมโครงการนำร่อง เปิดสอนหลักสูตรปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในโรงเรียนระดับประถมศึกษา และจะส่งเสริมหลักสูตรดังกล่าวในโรงเรียนอื่นๆ ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน โดยก่อนหน้านี้กรุงเซี่ยงไฮ้ ได้เปิดตัวหลักสูตรนำร่องดังกล่าวให้กับนักเรียนเช่นกัน นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยครุศาสตร์หัวตง วิทยาเขตเซี่ยงไฮ้ยังจัดทำชุดหนังสือเรียนปัญญาประดิษฐ์ที่ประกอบด้วยตำรารวม 10 เล่ม อีกด้วย
ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นผลมาจากเมื่อเดือนมีนาคม กระทรวงศึกษาธิการจีนมีคำสั่งให้เปิดสอนหลักสูตรปัญญาประดิษฐ์ในโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษา รวมถึงส่งเสริมการสอนเขียนโปรแกรมให้เป็นที่นิยมมากขึ้น
นับเป็นสิ่งที่ระบบการศึกษาในประเทศต่างๆ เริ่มมีการปรับตัวให้สอดรับเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำโดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเยาวชนตั้งแต่ระดับการศึกษาชั้นต้น
สำหรับประเทศไทยคงปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องก้าวตามให้ทัน ในขณะที่วันนี้พรรคการเมืองที่เข้ามาดูแลกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ว่าจะมาด้วยเหตุผลหรือเงื่อนไขใดก็ตาม ผู้ที่เข้ามานั่งเก้าอี้เสนาบดีนั้นแบกความหวังของประชาชน ให้ทำหน้าที่สร้างเบ้าหลอมเยาวชนของประเทศให้อยู่รอดในอนาคต