อาการหงุดหงิดหัวใจที่สะท้อนผ่านการตอบคำถามของ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งประเด็นเรื่องจุดยืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงการถูกจี้ให้ "แคนดิเดต" ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงเก้าอี้นายกฯ แสดงวิสัยทัศน์ กลางที่ประชุมรัฐสภา ในวันที่ 5 มิถุนายน ต่างออกมาในทิศทางเดียวกันทั้งสิ้น นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ยอมเออออ ห่อหมก หรือสนองตอบต่อการเรียกร้องใดๆในทุกกรณี !! " ไม่มีจุดยืนเป็นเรื่องของกฎหมาย เป็นเรื่องของขั้นตอนตามกระบวนการ" คำตอบจากพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อถูกถามกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์อยากได้ยินจากปากนายกฯว่าจะมีจุดยืนแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร ? และ " กฎหมายว่าอย่างไรเธอก็ถามเรื่อยเปื่อย จนแสดงวิสัยทัศน์มา 5 ปีแล้วยังไม่พอหรืออย่างไร" คำตอบจากบิ๊กตู่ ที่บอกสื่อหลังถูกจี้ถามเรื่องการแสดงวิสัยทัศน์ ยิ่งเมื่อท่าทีจากพล.อ.ประยุทธ์ แข็งกร้าวมากเท่าใด โดยที่ไม่แสดงอาการหวั่นไหว ทั้งที่ใกล้วันโหวตเลือกนายกฯคนที่ 30 เข้ามาทุกขณะ เสมือนพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ให้น้ำหนักต่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่กุม "53 ส.ส." เอาไว้ในมือ จะยอมเทมาสนับสนุนทั้งหมด หรือเพียงบางส่วน เมื่อรูปการณ์เป็นเช่นนี้ จึงไม่มีน่าแปลกที่จะพบว่า ตลอดการเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ช่วงหลายวันที่ผ่านมา มีการประชุมด้วยกันหลายครั้ง มีแกนนำระดับ "คีย์แมน" ของพรรคเดินเข้าออกที่ทำการพรรค ถนนเศรษฐสิริ แต่กลับ " ไร้คำตอบ" ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจเรื่องการเข้าร่วมรัฐบาลกับ "พรรคพลังประชารัฐ" อย่างไร ? ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีความชัดเจน แต่สำหรับพรรคพลังประชารัฐ เองไม่ยอมเป็นฝ่ายถูกกดดัน โดยไม่ "รุกกลับ" เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว วันนี้ (4 มิ.ย.) พรรคพลังประชารัฐ คงไม่นัดหมาย " 5 พรรคเล็ก" ประกอบด้วยพรรคชาติพัฒนา, พรรครวมพลังประชาชาติไทย , พรรคพลังท้องถิ่นไท, พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย และพรรคประชาชนปฏิรูป เปิดการแถลงข่าวที่โรงแรมเดอะ สุโกศล เวลานี้การเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย อาจเป็นได้ทั้งกุศโลบายที่ฝ่าย คสช. จะออกแรงกดดันกลับไปยังพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ว่าวันนี้พรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้หวั่นไหวว่าจะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ หรือรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่สิ่งที่ คสช. ซึ่งอยู่เบื้องหลังพรรคพลังประชารัฐ ยอมไม่ได้คือการถูกดดัน โดนต่อรอง จากฝ่ายการเมือง แม้ขณะเดียวกัน ฝ่ายการเมืองเองจะมองว่า ฟาก คสช.ก็กลับไม่ยอม "ลดรา" หรือยอมปล่อยกระทรวงหลักๆ ให้ไปอยู่ในมือของพรรคพันธมิตร นอกจากนี้ยังต้องไม่ลืมว่า "ไพ่ตาย" ที่อยู่ในมือ บิ๊กตู่ คือการนั่งเป็นนายกฯโดยไม่มีกำหนด หากตราบใดที่รัฐบาลใหม่ยังไม่เกิดขึ้น ขณะที่ในมือ ยังมี "ดาบอาญาสิทธิ์" คือ "ม.44" คอยคุมเกม ได้อีกยาว ถึงกระนั้นอย่าได้กะพริบตา เพราะเกมระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับ คสช. ยังไม่จบลงแค่ยกนี้ !