วันที่ 5 มิ.ย.นี้ สมาชิกรัฐสภา ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร 500 คน และวุฒิสมาชิก 250 คน จะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี สำหรับประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเป็นครั้งแรกของรัฐธรรมนูญ ปี 2560
เมื่อได้ตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็จะได้จัดตั้งรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีขึ้นมาบริหารประเทศ ซึ่งหากนับจากวันเลือกตั้ง 24 มีนาคมที่ผ่านมา ก็กว่า 2 เดือนแล้วที่ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล ไม่เหมือนกับการเลือกตั้งที่ผ่านมาในอดีต
และในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ก็ไม่เหมือนกับในอดีตที่ผ่านมา โดยรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นกำหนดไว้ในมาตรา 159 ว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
ในขณะที่มาตรา 269 ระบุไว้ในวรรคแรกว่า ในวาระเริ่มแรก ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยห้าสิบคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ และมาตรา 272 ยังกำหนดเพิ่มเติมไว้ว่า ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลันและในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้
อย่างไรก็ดี มีกระแสคัดค้านการเปิดโอกาสให้วุฒิสมาชิก 250 คนร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตตรี เนื่องจากเกรงว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม และไม่มีความสง่างาม ในขณะที่คะแนนเสียงที่กลุ่มขั้วการเมือง ซึ่งจับมือกันดังรปรากฎเป็นข่าวที่ผ่านมานั้น ทั้งขั้วพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทยไม่มีฝ่ายใดได้คะแนนเสียงแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ดังนั้น การเลือกนายกรัฐมนตรีรอบนี้ จึงดูเหมือนง่ายแต่ยาก และหากได้ตัวนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็จะเห็นว่าอนาคตประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ซึ่งเราคาดหวังว่าจะมีแนวโน้มไปในทางที่ดี และนำไปสู่หนทางปรองดอง