ทวี สุรฤทธิกุล
บ่นกันมากว่าเด็กสมัยนี้ไม่เหมือนแต่ก่อน
เมื่อเรากำลังพูดถึง “การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยใหม่” เราก็ต้องพูดถึง “การเปลี่ยนผ่านของคนรุ่นใหม่” ด้วย นั่นก็คือพฤติกรรมบางส่วนของคนรุ่นใหม่ก็ยังสืบทอดมาจากคนรุ่นเก่า แต่หลายๆ ส่วนก็คือ “วิวัฒน์” หรือพัฒนาการที่เป็นความเชื่อความคิดและการกระทำที่เปลี่ยนแปลงไปของคนรุ่นใหม่นั้นเอง
ผู้เขียนยึดถือปรัชญาชีวิตที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยบอกไว้เสมอๆ ว่า “อย่าทำตัวให้แก่” วิธีการอย่างหนึ่งก็คือ “ต้องคบกับเด็ก” อย่างน้อยก็ต้องรับฟังและคอยติดตามการกระทำของพวกเด็กๆ ทั้งหลายนั้น เพราะประโยชน์ที่ได้นอกจากตัวเราเองจะทันยุคทันสมัย จากการที่เราได้ติดตามการกระทำของคนรุ่นใหม่ๆ เหล่านี้แล้ว เรายังสามารถมองอนาคตของโลกได้จากความมุ่งหวังและวิธีการในการใช้ชีวิตของคนเหล่านี้ด้วย นี่คือสิ่งที่ทำให้เรา “ไม่แก่” เพราะเราจะยังคงมีชีวิตกับคนรุ่นใหม่ไปได้ตลอดชีวิตนั่นเอง
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยพูดเมื่อตอนอายุของท่านได้ 80 กว่าปีว่า “ชีวิตของเรา(คนแก่)คือชีวิตเมื่อวันวาน แต่ชีวิตของเขา(คนรุ่นใหม่)คือชีวิตแห่งวันพรุ่งนี้” ซึ่งตัวผู้เขียนเคยปฏิเสธอยู่ในใจว่า “อ้าว แล้วความเจริญรุ่งเรืองในอดีตที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะฝีมือของบรรพบุรุษของเราในอดีตหรือ” แต่พอท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ขยายความต่อ ผู้เขียนจึงถึงบางอ้อเพราะท่านบอกว่า “ก็พวกเราในอดีตนั่นแหละที่ผลักดันโลกนี้ให้เป็นไปและได้เห็นอย่างในทุกวันนี้” พูดชัดๆ ก็คือ พวกเราคนแก่ในวันนี้ก็คือเด็กในอดีตนั่นเอง
ที่ผู้เขียนพูดเรื่องคนแก่คนหนุ่มขึ้นมานี้ ก็เพื่ออธิบายความถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ว่าขณะนี้น่าจะไม่ใช่ยุคสมัยของคนรุ่นเก่าอย่างเราๆ (ขออภัยท่านผู้อ่านที่ยังหนุ่มสาวด้วยนะครับ) เพราะถ้าเป็นจริงตามทฤษฎีของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์แล้ว ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ นี้ ก็น่าจะเป็นด้วยการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่นั่นเอง
หลายคนเป็นห่วงว่าคนรุ่นใหม่กำลังพาประเทศไทยเข้าสู่ “อันตราย” หลายคนบ่นว่าคนรุ่นใหม่ไม่มีสัมมาคารวะ ไม่เคารพนับถือและเชื่อฟังผู้ใหญ่ หลายคนกลัวว่าความคิดแปลกๆ ของคนรุ่นใหม่จะนำประเทศไทยไปสู่หายนะ โดยคิดไปว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้ “ขาดรากเหง้า – ไร้ประสบการณ์ – อารมณ์ร้อน”
ผู้เขียนขอเอาตัวเองเป็นตัวอย่างมาอธิบาย ร่วมกับผู้หลักผู้ใหญ่ในวันนี้หลายๆ คน ที่ในอดีตก็เคยเป็น “คนรุ่นใหม่” มาก่อน ก็จะเห็นว่าเราก็เคยเป็นคนที่ “ดื้อด้าน” ในสายตาผู้ใหญ่ เราเคยอารมณ์ร้อนแบบไม่มีเหตุผล เราเคยต้องถูกอบรมให้เคารพนบนอบต่อผู้ใหญ่ ให้นึกถึงบุญคุณข้าวแดงแกงร้อน รวมทั้งคุณงามความดีของบรรพบุรุษ หรือความกตัญญูรู้คุณ แต่ว่าคนในหนุ่มสาวเหล่านั้นก็พยายามที่จะเป็นตัวของตัวเอง รวมถึงมักจะสร้าง “พฤติกรรมกลุ่ม” คือทำหรือเชื่ออะไรตามๆ กัน จึงมักทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เกิดเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น เช่น การยกพวกตีกัน การสร้างไอดอลและฮีโร่ และการสร้างแฟชั่นหรือนิยมสิ่งต่างๆ ไปในทางเดียวกัน เป็นต้น ส่วนในทางการเมืองด้วยการที่มีพฤติกรรมกลุ่ม ก็จะทำให้เชื่อและดำเนินกิจกรรมไปในแนวเดียวกัน ซึ่งบางทีก็ไม่มีเหตุผลอื่นใด นอกจากทำตามที่กลุ่มกำหนดขึ้นนั่นเอง
แต่พอคนเหล่านั้น “พัฒนา” คือ “อายุมากขึ้น” มาเป็นระยะ พฤติกรรมเหล่านั้นก็เปลี่ยนแปลงไป อย่างตัวผู้เขียนในช่วงหลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เคยมีความคิดชื่นชอบในลัทธิคอมมิวนิสต์ เพราะถูกกระแสความคิดในยุคนั้นหล่อหลอม แต่พอจบจากมหาวิทยาลัยได้มามีงานทำก็มีทัศนคติเปลี่ยนไป เช่นเดียวกันกับ “คนเดือนตุลา” จำนวนมาก ที่อาจจะเคยมีพฤติกรรมดุเดือดแข็งกร้าว แต่เมื่อออกมาอยู่ใน “สังคมจริง” พ้นจากความเพ้อฝันในชีวิตวัยรุ่นนั้นแล้ว ก็จะปรับพฤติกรรมเปลี่ยนไป อย่างคนที่เคยมีความคิดแบบคอมมิวนิสต์หลายคนก็หันไปรับใช้ “นายทุน – ขุนศึก” ที่คนเหล่านี้เคยประณามมาก่อน (แต่ก็มีคนบอกว่าคอมมิวนิสต์เหล่านั้นยังไม่เปลี่ยนเป้าหมาย ยังมุ่งหวังที่จะโค่นล้มสถาบันหลักๆ ของชาติอยู่ ในแนวทางของ “คอมมิวนิสต์ใหม่” หรือ Neo – Communist ดังที่เราเห็นคนกลุ่มนี้ไปเคลื่อนไหวผ่านระบบทุนนิยมอยู่นี้) รวมถึงหลายคนที่เคยต่อต้านระบบราชการ แต่เมื่อจบออกไปรับราชการก็กลายเป็น “ศักดินา” ไปในที่สุด
ผู้เขียนมีทฤษฎีหนึ่งที่เกิดจากการติดตามเฝ้าสังเกตความเป็นไปทางการเมืองไทยมาหลายสิบปี พบว่า พฤติกรรมทางการเมืองคือความเชื่อความคิดและการกระทำทางการเมืองของผู้คนเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ เมื่อพบกับ “ความผิดหวัง” จากการกระทำของกลุ่มการเมืองที่ตนตั้งความมุ่งหวังไว้ อย่างกรณีที่เราเบื่อระบบทหาร ทั้งๆ ที่หลายๆ ครั้งในตอนที่ทำรัฐประหารใหม่ๆ คนจำนวนมากก็เชียร์อย่างออกหน้าออกตา หรือในยุคที่ผู้ปกครองมาจากการเลือกตั้ง หลายคนก็ดีอกดีใจและหวังว่าจะมีอะไรดีๆเกิดขึ้น แต่ครั้นพอผู้ปกครองทั้งในยุคนักรัฐประหารและในยุคนักเลือกตั้ง สร้างความผิดพลาดและเสื่อมเสีย หรือทำอะไรไม่สำเร็จ เราก็จะ “ต่อต้าน” ผู้ปกครองเหล่านั้นขึ้นมาทันที ซึ่งถ้าเป็นนักเลือกตั้งเราก็จะไม่เลือกคนเหล่านั้นอีกต่อไป แต่ถ้าเป็นนักรัฐประหารเราก็ต้องใช้ยุทธวิธีที่ “ลึกซื้ง” มากหน่อย อย่างเช่นพยามทำให้ทหารทะเลาะกัน เป็นต้น
อย่างที่เราเห็นความพยายามของผู้มีอำนาจในการ “เด็ดหัวเด็ดหาง” พรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่บางพรรค ก้อาจจะเป็นไปในแนวทางนี้ คือทำให้พรรคการเมืองนี้ทำอะไรไม่ได้ จะเป็นรัฐบาลก็ไม่ได้ หรือจะเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ก็มีปัญหาไปหมด ก็เพื่อทำให้มวลชนของพรรคการเมืองพรรคนี้ “ผิดหวัง” และที่สุดก็อาจจะเปลี่ยนใจไม่เลือกพรรคการเมืองในแนวนี้อีกต่อไป
แต่ท่านผู้มีอำนาจก็อย่าลืมว่า ความผิดหวังของตนรุ่นใหม่ในรุ่นนี้ อาจจะเป็น “เชื้อไฟ” ไปสู่ “พฤติกรรมใหม่ๆ” ของคนรุ่นใหม่ในรุ่นต่อไปก็ได้