ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญสถานการณ์วิกฤติฝุ่นละออง หรือ PM2.5 เกินค้ามาตรฐาน ทำให้เกิดความตื่นตัวในปัญหามลพิษ และการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้มีอากาศบริสุทธิ์สำหรับตนเองและลูกหลานไปด้วย โดยมีการตระหนักถึงปัญหาควันพิษ ที่แม้จะเป็นคนละเรื่องกัน แต่ก็สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม ทั้งจากการเผาพื้นที่การเกษตร การเผาขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะต่างๆ การเผาไหม้ของบุหรี่ ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดควันพิษ
31 พฤษภาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก โดยปีนี้มีประเด็นรณรงค์ “Tobacco.burns.your.lungs หรือบุหรี่เผาปอด” โดยข้อมูลจากนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ให้ความสำคัญถึงสุขภาพปอด ภายใต้คำขวัญ "บุหรี่ เผาปอด" ซึ่งเผาปอดทั้งคนสูบและคนรอบข้าง โดยทุก 4 วินาที จะมีคนตายจากบุหรี่ 1 ราย
นพ.ปิยสกล ยังเปิดเผยว่า ในส่วนของคนไทยนั้น เสียชีวิตจากบุหรี่ปีละกว่า 7 หมื่นราย ที่น่าห่วงคือ อัตราการสูบบุหรี่ในคนอายุน้อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าเด็กไทยร้อยละ 10 ติดบุหรี่ ช่วงอายุ 10 ปี
สำหรับภาษีบุหรี่อัตราใหม่จะชะลอไปเป็นปี 2563 แต่เกิดขึ้นแน่นอน และรัฐบาลก็มีนโยบายควบคุมยาสูบอื่นๆ ชัดเจน เช่น การบังคับใช้กฎหมาย ล่าสุดออกประกาศกำหนดสถานที่สาธารณะ ยานพาหนะ และที่ทำงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ รวมมากกว่า 100 สถานที่
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การสูบบุหรี่ในปัจจุบันประมาณการว่าใน ปี 2568 จะมีผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.6 พันล้านคน และอัตราการเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่จะเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคน
นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุบุหรี่เป็นสารเสพติดที่มีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวสูงโดยคุกคามสุขภาพทั้งในระดับบุคคล ชุมชน สังคมและประเทศชาติ โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ผู้สูบบุหรี่แต่ยังเป็นภัยต่อผู้ที่ได้รับควันบุหรี่อีกด้วย สารประกอบในบุหรี่หลายชนิดก่อให้เกิดโรคต่างๆ มากกว่า 25 โรค ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจขาดเลือด โรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบว่าในทุก 1 นาที มีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ประมาณ 6 – 7 คน องค์การอนามัยโลกได้คาดการณ์ว่าระหว่างปี 2563 - 2573 จะมีการสูญเสียประชากรก่อนวัยอันควรถึงประมาณ 100 ล้านคน และประเทศต่างๆ ต้องแบกรับภาระประชากรที่เจ็บป่วย พิการ หรือเสียชีวิตมากขึ้น จึงต้องมีมาตรการในการควบคุมการบริโภคยาสูบที่มีประสิทธิภาพ
เราสนับสนุนการรณรงค์ลดสูบบุหรี่ และการเพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่ โดยหวังว่าในอนาคตตัวเลขผู้ที่สูบบุหรี่จะเป็นศูนย์ ด้วยนอกจากบุหรี่จะเผาปอดผู้สูบเอง และคนรอบข้างแล้ว ยังทำลายสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือ ทำลายเศรษฐกิจของครอบครัว
ดังคำกล่าวที่ว่า “การสูบบุหรี่ก็เหมือนเอาเงินมาเผาเล่น” หากหยุดสูบบุหรี่ได้ จะประหยัดเงินได้หลายหมื่นบาทต่อปี