ทีมข่าวคิดลึก
กลายเป็น "เงื่อนไขใหม่" ขึ้นมาทันที เมื่อ "กำนันสุเทพ" สุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย(มปท.) ออกมาทิ้งไพ่ใบสำคัญว่า ตนเองนั้นพร้อมที่จะสนับสนุนการที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) แต่จะไม่ร่วมลงนามทำข้อตกลง หรือ MOU เพราะไม่เชื่อว่า นี่คือทางออกที่ถูกต้อง
ด้วยท่าทีของกำนันสุเทพ ล่าสุดกำลังทำให้เกิด "แรงกระเพื่อม"ไปยังรัฐบาล ในฐานะ "เจ้าภาพหลัก" ที่ออกมาประกาศสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น และที่น่าสนใจไปกว่านั้น คืออาการ"ไม่ตอบรับ" ครั้งนี้ กลับออกมาจาก อดีตแกนนำ กปปส. มวลมหาประชาชนที่เคยออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ชินวัตร และถูกมองว่าเป็นการเปิดทางให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เข้ามายึดอำนาจ ในเหตุการณ์ 22 พ.ค.2557
ทั้งที่ฝ่ายที่น่าจะออกมาแสดงปฏิกิริยาคัดค้านต่อต้านการสร้างความปรองดอง นั้นควรเป็น "คนเสื้อแดง" และพรรคเพื่อไทย ในฐานะเครือข่ายอำนาจของรัฐบาลที่เคยถูก คสช.ยึดอำนาจมากกว่า
แน่นอนว่า เมื่อเป็นการขยับจาก"คนกันเอง" อย่างกำนันสุเทพ ที่มีต่อคสช. ในลักษณะตรงไปตรงมาเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดคำถามว่า เมื่อเกิดปฏิกิริยาไม่เอาด้วย จาก กปปส. ในฐานะ "คู่ขัดแย้ง" คนสำคัญทางการเมือง จะส่งผลให้การเดินหน้าทำงานของ "บิ๊กป้อม"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ได้รับมอบหมายจาก "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. มีอันต้องสะดุด ด้วยหรือไม่?
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลและ คสช. ได้ใช้ความพยายามในการก่อสร้างถนนสายปรองดองกันมาระยะหนึ่งทั้งการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาขับเคลื่อน โดยใช้ "บิ๊กทหาร" เข้ามานั่งอยู่หัวโต๊ะ แทนการดึง "คู่ขัดแย้ง" ในทางการเมืองมานั่งในคณะกรรมการชุดต่างๆ
ตลอดจนแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ต่างได้รับการขานรับจากแกนนำพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคไม่ว่าจะเป็นพรรคประชา
ธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย รวมทั้งฟากคนเสื้อแดงเองก็ประกาศสนับสนุนการปรองดอง หลังจากที่ "จตุพร พรหมพันธุ์" ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้รับการประกันตัวชั่วคราว
แต่แล้วล่าสุด เมื่อกำนันสุเทพออกมาประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่ขอลงนามทำเอ็มโอยู ทำข้อตกลงใดๆไม่ว่าจะกับ "ใคร" ก็ตาม โดยสุเทพ อ้างว่าก่อนหน้านี้เขาเองได้เคยเชิญชวนให้คนเสื้อแดง หันหน้ามาปรองดองกันแล้วแต่กลับไม่เป็นผล จนในที่สุดการเคลื่อนไหวทางการเมืองจึงต้องดำเนินต่อไป ก่อนถึงเหตุการณ์ 22 พ.ค. 2557 ที่ผ่านมา
แน่นอนว่าเซียนการเมืองระดับกำนันสุเทพ ย่อมรู้ดีว่าเมื่อส่งสัญญาณและแสดงท่าทีออกมาในลักษณะเช่นนี้แล้ว จะเกิดอะไรขึ้นตามมา ทุกการเคลื่อนไหวของอดีตแกนนำ กปปส.ผู้นี้ จึงไม่ใช่เพียงแค่เป็นการ "บอกเล่าเก้าสิบ" กันทั่วไป โดยแลกกับเสียงที่ถูกโจมตีกลับมาว่า ขอให้กำนันสุเทพ เปลี่ยนใจ โดยเห็นแก่บ้านเมือง เท่านั้น
หากแต่การส่งสัญญาณในรูปการณ์เช่นนี้ น่าจะเป็นจังหวะทางการเมืองที่ทั้งเพื่อไทย นปช. ต้องอ่านเกมให้ทัน!