31 พ.ค. ของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งปีนี้มีการรณรงค์ภายใต้คำขวัญ “บุหรี่ เผาปอด” เพื่อให้ผู้สูบบุหรี่และสังคมตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ และช่วยกันปกป้องปอดจากควันบุหรี่ซึ่งเผาทั้งปอดของผู้สูบบุหรี่และคนรอบข้าง ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในปี 2560 มีผู้สูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน เสียชีวิตด้วยโรคจากบุหรี่ 72,656 ราย นอกจากความสูญเสียอันเกิดจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรซึ่งประเมินเป็นมูลค่ากว่าปีละ 131,073 ล้านบาทแล้ว ยังมีความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการรักษาพยาบาลผู้ป่วยอีกปีละ 77,626 ล้านบาท และความสูญเสียจากการที่ต้องขาดรายได้เนื่องจากเจ็บป่วยปีละ11,762 ล้านบาท คิดเป็นความสูญเสียรวมทั้งหมดปีละ220,461 ล้านบาท ในขณะที่ องค์การอนามัยโลกเผยว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ 8 ล้านคน หรือ ทุกๆ 4 วินาที จะมีคนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 1 คน และอีก 1ล้านคนคือผู้ที่เสียชีวิตเพราะได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสอง เห็นได้ว่าชัดเจนว่า ควันบุหรี่เป็นภัยร้ายที่ต้องรีบแก้ไข เพราะการจุดบุหรี่แต่ละมวนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ การหายใจเอาควันบุหรี่ซึ่งเต็มไปด้วยสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด ซึ่ง 250 ชนิดถูกระบุว่าเป็นสารพิษอันตราย และอีกมากกว่า 70 ชนิด เป็นสารก่อมะเร็ง และเป็นสาเหตุของ 4โรคร้ายที่ทำลายปอด เช่น มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง วัณโรค และโรคภูมิแพ้ ฉะนั้น ยิ่งสูบบุหรี่นานเท่าไร ก็ยิ่งเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บที่บั่นทอนชีวิตให้สั้นลง ดังนั้น การเลิกบุหรี่ คือวิธีการที่ดีที่สุดที่จะลดอันตรายและป้องกันสุขภาพจากโรคภัยต่างๆ ได้ องค์การอนามัยโลกได้แนะนำมาตรการ เช่น การให้ความรู้กับประชาชนและการรณรงค์ต่อต้านยาสูบ การห้ามการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้ายาสูบ การระบุภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ รวมถึงการขึ้นภาษียาสูบ ซึ่งประเทศไทยก็ดำเนินมาตรการเหล่านี้มาโดยตลอด อีกทั้ง หน่วยงานและองค์กรต่อต้านบุหรี่ยังได้แนะนำวิธีการเสริมใหม่ๆ เช่น การกินมะนาว การฝังเข็ม การกดจุดนวดเท้า แต่ก็ยังเป็นที่กังขาถึงประสิทธิภาพในการช่วยเลิกบุหรี่ ในขณะที่การใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้รับการสนับสนุนในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีหลักฐานที่เด่นชัดบ่งชี้ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีความปลอดภัยกว่าบุหรี่แบบเผาไหม้ เพราะไม่มีควันซึ่งประกอบไปด้วยสารก่อมะเร็ง และยังเป็นตัวช่วยในการเลิกบุหรี่ได้อีกด้วย แม้จะมีการยอมรับมากขึ้นว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ที่มีการเผาไหม้ เพียงแต่ยังไม่ทราบผลระยะยาว ก็เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ซึ่งสำหรับผู้สูบบุหรี่แล้ว การที่อันตรายลดลงไปได้ถึง 95% ย่อมดีกว่าการสูบบุหรี่ที่ทำให้ได้รับอันตรายเต็มๆ จากควันที่เกิดจากการเผาไหม้ แต่ในประเทศไทย การใช้บุหรี่ไฟฟ้าไฟฟ้าก็ยังไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้สูบบุหรี่ที่ตัดสินใจว่าอย่างไรก็จะไม่เลิกบุหรี่ ทำให้หลายสิบปีที่ผ่านมา อัตราผู้สูบบุหรี่ของประเทศไทยไม่ได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แถมยังมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ต่อปีเพิ่มขึ้นกว่า 1 หมื่นคนในปีที่ผ่านมา ซึ่งสถิติเหล่านี้เป็นที่น่าเศร้าใจนัก คำถามที่ตามมาคือ แล้วเราจะทำอย่างไรกับผู้สูบบุหรี่อีกกว่า 10 ล้านคนที่เคยเข้าสู่กระบวนการเลิกแล้วล้มเหลว หรือ คนที่ยังไม่พร้อมจะเลิก และควรจะมีแนวทางใหม่ๆ อะไรหรือไม่ที่จะช่วยเสริมมาตรการลดการสูบบุหรี่ที่ใช้กันอยู่