ยังไม่ทันได้ใช้ชีวิตร่วมกัน ความเห็นที่ไม่ลงรอยระหว่าง “พรรคพลังประชารัฐ” และ “พรรคพันธมิตร” ทำท่าว่าจะขยายบานปลายออกไปในทิศทางที่เลวร้าย มากกว่าเป็นบวกเสียแล้ว !
และแน่นอนว่าหากปล่อยให้สถานการณ์ยังดำเนินต่อไปด้วยความอึมครึมยืดเยื้อต่อไปเช่นนี้ โอกาสที่ “คลื่นแทรก” จากทั้งฝ่ายตรงข้าม และ “คนกันเอง” จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยปริยาย
การเปิดดีลเจรจาทางการเมือง เพื่อเชื้อเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ที่แกนนำส่งขันหมากไปสู่ขอพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยและ พรรคชาติไทยพัฒนา จนดูเหมือนว่า ทุกอย่างน่าจะราบรื่น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่า จนถึงวันนี้ ยังไม่มีอะไรที่บ่งชี้ได้ว่า “ลงตัว”
มิหนำซ้ำ ทั้งที่พรรคพลังประชารัฐ ประกาศตัวเป็นพรรคแกนนำตั้งรัฐบาล หนุน “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับถูกพรรคพันธมิตร กดดันชนิด “ซึ่งหน้า” ไม่ไว้ไมตรี
ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ที่แม้จะได้เก้าอี้ตัวใหญ่ไปครองแล้ว คือ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” แต่ยังไม่ให้ความชัดเจนว่า ประชาธิปัตย์จะไปหมดทั้ง 53 เสียงที่นั่งหรือ จะไปเพียงบางส่วน เพราะเวลานี้เกิด “คลื่นลม”ภายในพรรคประชาธิปัตย์ วุ่นวายไปทุกหย่อมหญ้า
บ้างเรียกร้องให้ประชาธิปัตย์ เป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” บ้างส่งสัญญาณว่า หากประชาธิปัตย์ ประกาศไปร่วมรัฐบาล หนุน พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อใด ถึงตอนนั้นจะได้เห็น “ใบลาออก” จากส.ส.ของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรค รวมทั้งอาจจะมีส.ส.ของพรรคอีกหลายคน จะแสดงจุดยืนในทิศทางเดียวกันอภิสิทธิ์
เมื่อมองไปยัง พรรคชาติไทยพัฒนา ก็พบว่าแกนนำในพรรคยังแสดงท่าทีไม่ชัดเจนต่อการร่วมรัฐบาล โดยล่าสุดออกมาระบุว่า หากจำเป็นพรรคชาติไทยพัฒนาก็พร้อมที่จะเล่นบท “ฝ่ายค้านอิสระ” เช่นกัน เพราะบทอื่น ๆก็เล่นมาแทบทั้งหมดแล้ว
ท่าทีของพรรคตชาติไทยพัฒนานับว่าน่าสนใจไม่น้อย เพราะอยู่ดีๆ พรรคที่มีส.ส.10 ที่นั่งกำลัง “ออกฤทธิ์” ออกอาการตอบโต้ พรรคพลังประชารัฐ ในท่ามกลางกระแสข่าวว่า “ดีล” ข้อตกลงเรื่องเก้าอี้ ในครม.ไม่ลงตัว และงานนี้ชาติไทยพัฒนาเอง ก็ทำท่าว่าจะไม่ยอมเป็น “เด็กดี ” ที่ยอมรับทุกเงื่อนไข ทุกเก้าอี้ ไม่ว่าจะเป็น
กระทรวงเกรดใด โดยไม่ยอมปริปาก
จากความไม่ชัดเจน ที่อึมครึม ยืดเยื้อและไร้คำตอบระหว่างพรรคพลังประชารัฐ และพรรคพันธมิตรแนวร่วม ที่กำลังเกิดขึ้น เวลานี้ ยิ่งจะทำให้สถานการณ์เกิดความเปราะบาง มากยิ่งขึ้น
ไม่เช่นนั้นแล้ว คงไม่มีกระแสสะพัดว่า จะโหวตเลือก “นายกฯ” กันก่อน จากนั้นหากความวุ่นวายยังไม่จบ บทสุดท้ายที่ทุกคนต้องเจอ คือการ “ยุบสภา”
เช่นเดียวกับการที่อีกฟากหนึ่ง ระดมปล่อยข่าวลือ ที่เขย่าขวัญคสช.และพรรคพลังประชารัฐ ถึงเรื่อง รัฐบาลอายุสั้น ไปจนถึง “นายกฯคนนอก” เพื่อลดทอนความแข็งแกร่งของคสช.และพลังประชารัฐให้ได้มากที่สุด
บทสรุปว่าด้วยการเจรจาในแต่ละเงื่อนไข แต่ละข้อเสนอ จะออกมาเป็นไพ่หน้าไหน ล้วนเป็น “คำถาม” ที่ยังรอคำตอบ ด้วยใจจดจ่อ !