สถาพร ศรีสัจจัง โดนกฎเกณฑ์ว่าด้วย “ความเปลี่ยนแปลงของสิ่ง” ตามหลักคิดของสำนัก “วัตถุนิยมวิภาษวิธี” ย่อมเห็นว่า ปรากฏการณ์ทั้งปวง ล้วนมีเหตุเกิดจาก “ความขัดแย้ง” ทั้งสิ้น ทั้งที่เกิดจากความขัดแย้งภายใน และ ภายนอกของ “สิ่ง” นั้นๆ ไม่ยกเว้นสังคมมนุษย์! หรือแม้กระทั่งระบบความคิดของมนุษย์แต่ละคนที่นักวิชาการนิยมเรียกว่า “ปัจเจก” นั่นแหละ โดยนัยนี้ “ความขัดแย้ง” จึงถือเป็น “ธรรมชาติ” พื้นฐานของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะก้าวหน้าหรือล้าหลัง(ปฏิกิริยา) ทั้งหลาย ทั้งปวง ของมวลมนุษยชาติก็ล้วนแล้วแต่เกิดจากฐานของความขัดแย้งดังกล่าวทั้งสิ้น โดยนัยนี้ ความขัดแย้งชุดหนึ่งจึงย่อมจะนำไปสู่ “คุณภาพใหม่ของสิ่ง” ชุดหนึ่งเช่นกัน! ฟังมาอีกว่า รูปแบบของความขัดแย้งนั้นมีอย่างน้อย 2 ลักษณะ คือ ลักษณะสร้างสรรค์ และ ลักษณะทำลาย นักปราชญ์ใหญ่ฝ่าย “ทฤษฎีว่าด้วยความขัดแย้ง” ( Theory of conflict) อรรถาธิบายไว้ สรุปได้ประมาณว่า ในสังคมมนุษย์นั้น ความขัดแย้งที่สำคัญที่สุดคือความขัดแย้งระหว่าง “ชนชั้น” คือระหว่างชนชั้นที่เป็นเจ้าของ “ปัจจัยการผลิต” ทั้งหลายทั้งปวง (ยกเว้น “แรงงาน”) กับชนชั้นผู้ใช้แรงงาน(แรงงานสมองและแรงงานกาย) ที่ภาษาวิชาการแบบฝรั่งเรียกว่า Proletariat นั่นหละ ชนชั้นแรงงาน มีทุนเพียงอย่างเดียวคือ “แรงงาน” ถ้าเขามีศักยภาพในการใช้แรงงาน (ทั้งแรงสมอง และแรงกาย) จนสามารถสั่งสมทรัพย์สินจนกลายเป็น “ทุน” และสามารถขยายพัฒนาทุนดังกล่าวไปได้เรื่อยๆ ชนชั้น (และสำนึกทางชนชั้น) ของเขาก็จะค่อยๆเปลี่ยนไปเป็น “ชนชั้นนายทุน” ไปในที่สุด โลกมนุษย์ยุค “รัฐชาติ” ในช่วงประมานเกือบ 150 ปีที่พ้นผ่าน นับเป็นยุคที่ความขัดแย้งทางชนชั้น ระหว่างชนชั้นนายทุนที่เป็นเจ้าของปัจจัยในการผลิตกับชนชนชั้นแรงงาน (ทั้งภาคเกษตรกรรม/อุตสาหกรรมและพานิชยกรรม) รุนแรงและชัดเจนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการปะทะกันเชิงผลประโยชน์ในรูปแบบและคุณภาพต่างๆเกิดให้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ “รัฐชาติ” สมัยใหม่หรือสังคมไหน “โชคดี” มีกลุ่มชนชั้นนำของสังคม (อาจเรียก “รัฐบาล”/”กลุ่มนักการเมือง/ หรืออะไรก็แล้วแต่) ที่มีคุณภาพสูง เข้าใจปัจจัย และข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ ทั้งในส่วนที่เป็นอัตวิสัย และภววิสัยของสังคมตนได้แจ่มชัด มีคุณธรรมและจริยธรรมสูง วางระบบการคานอำนาจทางสังคมไว้ดี ฯลฯ ก็จะสามารถนำพามวลชนและสังคมรัฐชาติตนเองไปสู่สังคมที่มีสุขสงบได้ในระดับหนึ่ง โดยสามารถเลี่ยง “ความขัดแย้งเชิงทำลาย” ที่จะนำสภาวะความยากจน ความรุนแรง ความขาดแคลน ความหยาบกระด้าง ความไร้ศีลธรรม และจริยธรรมฯลฯมาสู่สังคมตนลงได้ พูดเชิงออกอุทานแบบคนสังคมพุทธก็คงได้ประมาณ “สาธุบุญของเขาแท้ๆ!” สังคม “รัฐชาติ” แบบที่ว่าดังกล่าวในปัจจุบันอาจเห็นได้ไม่ยากแถบพื้นที่สแกนดิเนเวียทั้งหลาย หรือที่ขัดๆก็เช่นแถบถิ่นหิมาลัยอย่างประเทศภูฏานของกษัตริย์ จิกมี วังชุก ที่คนไทยรู้จักนั่นไง! แล้วผู้คนส่วนใหญ่ซึ่งเป็น “ราษฎร” ของ “รัฐไทย” ที่กำลังตกอยู่ในสภาวะเหมือนเป็น “ตัวประกัน” ระหว่างเขาควายสองฝั่ง คือฝั่งของ “รัฐบาล 20 พรรค” (กำลังวิ่งประสานเพื่อจัดตั้งกันจ้าละหวั่นอยู่จนวันนี้) ที่ฟังว่าจะมี “นายกฯลุงตู่” ขาเก่ามาเป็นผู้นำนาวา กับ ฝั่ง “พรรคเพื่อไทย และ คณะผู้ลงสัตยาบรรณ” ที่ใครก็รู้ว่าผู้นำตัวจริงเป็นใคร/หรือเป็น “นอมินี” ของใครเล่า? กำลังจะต้องเผชิญชะตากรรม ประการใดกันอยู่บ้างหนอ! คิดแล้วช่างน่าเสียวไส้และวังเวงเสียจริงหนอ!!!