ขันหมากที่ “พรรคพลังประชารัฐ” ยกไปสู่ขอ “พรรคประชาธิปัตย์” เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น ดูทีว่าจะยังไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับฝ่ายหลังที่ถูกทาบทามจนเป็นที่พึงพอใจได้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว “ความชัดเจน” ว่าที่สุดแล้วประชาธิปัตย์จะตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ หรือไม่ มิหนำซ้ำยังจงใจลากเกมยาว รอให้ ที่ประชุมใหญ่ของพรรคเป็นฝ่ายให้คำตอบ ! ข่าวแจ้งว่า ภายหลังจากที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐ พากันยกขันหมากมาสู่ขอพรรคประชาธิปัตย์ กลับไปแล้ว หลายคนยังต้อง “กุมขมับ” เพราะท่าทีของประชาธิปัตย์ที่ส่ง “เฉลิมชัย ศรีอ่อน”เลขาธิการพรรค ออกมาต้อนรับ ก็เป็นเพียงการ “รับข้อเสนอ” ที่มาพร้อมกับ “เงื่อนไข” ว่าประชาธิปัตย์ ต้องได้ในสิ่งที่ต้องการ จึงไม่ต้องแปลกใจว่า เหตุใดการเจรจาระหว่าง แกนนำสองพรรค ทั้งประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐ จึงเหมือนไม่มีความคืบหน้า อันแตกต่างจาก ท่าทีของ พรรคภูมิใจไทย ที่ถึงกับออกหนังสือตอบรับการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ เมื่อพลังประชารัฐ ยกขันหมากไปสู่ขอในช่วงเย็นวันเดียวกัน นอกจากพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่มี “คำตอบ” ที่ชัดเจนให้แล้ว ยังปรากฎว่าในพรรคยังเปิด “การแสดง” ที่จงใจ “สั่นประสาท” พรรคพลังประชารัฐ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะการที่ “วัชระ เพชรทอง” อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมายืนยกป้ายที่มีข้อความว่า “ไม่เอาประยุทธ์เป็นนายกฯ” ที่ลานพระแม่ธรณีบีบมวยผม เพื่อยืนยันว่า ตัวเองไม่เห็นด้วย หากพรรคประชาธิปัตย์จะมีมติไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐที่มีความชัดเจนแล้วว่าจะสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี หรือแม้แต่การเกิดปรากฎการณ์ ในทวิตเตอร์ได้ติดแฮชแท็ก “ฝ่ายค้านอิสระ” ติด 1 ใน 10 ท็อปเทรนด์ไทย อยู่ในอันดับที่ 4 ของวันเดียวกับที่พรรคพลังประชารัฐ ยกคณะไปเยือนประชาธิปัตย์ถึงบ้าน ความเคลื่อนไหวต่างๆเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มีผลในทางจิตวิทยาทั้งสิ้น เพราะหากเป็นยุทธวิธีทางการทหาร ก็คงไม่ต่างไปจากการทำสงครามไอโอ กับฝ่ายตรงข้าม โดยจะเป็นการชี้ให้เห็นว่า “ทุกการตัดสินใจ” ของประชาธิปัตย์ที่ต้องล่าช้านั้นล้วนแล้วแต่มีเหตุมีผล ต้องฟังเสียงรอบด้าน อย่างไรก็ดี ขณะที่เกมการเมือง นอกสภาฯยังคงเดินหน้าไปด้วยความเข้มข้นว่า ที่สุดแล้วพรรคพลังประชารัฐ จะต้องเกลี่ยเก้าอี้รัฐมนตรี ให้กับพรรคแนวร่วมพันธมิตร กันกี่เก้าอี้ เพราะลำพัง “ศึกใน” ที่ต้องฟาดฟันเพื่อจัดสรรปันส่วนโควต้ารัฐมนตรีกันเองภายในพรรคพลังประชารัฐ ก็นับว่าหนักหนามิใช่น้อย แต่เมื่อวันนี้ ต่างฝ่ายต่างตั้งเงื่อนไข อยู่ที่ความต้องการคุม “กระทรวงหลัก” โดยที่ พรรคพลังประชารัฐเองก็ยากที่ยอมรับในเงื่อนไข โดยเฉพาะกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ที่กลุ่มของอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ต้องการกันเอาไว้ กำลังถูกยื้อ จากพรรคแนวร่วมอย่างดุเดือด ส่วนกระทรวงด้านความมั่นคง แน่นอนว่าจะต้องอยู่ในของ คสช. เป็นหลัก เหมือนกับที่ก่อนหน้านี้ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้ส่งสัญญาณเอาไว้แล้วอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี วาระที่มีความสลักสำคัญต่อคสช.มากที่สุดคือการโหวตเลือก “นายกฯคนที่30” อันจะมีขึ้นภายใต้ “ประธานสภาฯคนใหม่” คือ “ชวน หลีกภัย” คีย์แมนจากประชาธิปัตย์ กำลังกลายเป็น สมรภูมิที่คสช.เองไม่ถนัดเอาเสียเลย แต่เมื่อเกมการต่อสู้เดินมาถึงจุดนี้ อีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า การประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือก “บิ๊กตู่” นายกฯในนามพรรคพลังประชารัฐ จะต้องมีขึ้นอยู่ดี แต่ว่ากันว่า วาระสำคัญที่ว่าด้วยการโหวตเลือกนายกฯ ที่กำลังถูกผูกเงื่อนเอาไว้กับ การต่อรองเก้าอี้ในครม. เช่นนี้ จะมีขึ้นได้เมื่อใด ช้าหรือเร็ว จะถูกลากยาวออกไปได้มากน้อยแค่ไหนก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า ทุกฝ่ายในฟากคสช.และแนวร่วม จะยอม “วิน วิน” กันที่จุดไหน ก็เท่านั้น !!