“เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” เป็นสโลแกนประจำตัวของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ที่จากไปแล้วอย่างสงบ
แต่ถึงกายสังขารจะแตกดับสลายไป คุณูปการของพล.อ.เปรมหรือ “ป๋าเปรม” ที่มีมากมายหลายประการต่อประเทศนั้นยังคงอยู่
โดยเฉพาะผลงานสำคัญคือ นโยบาย 66/23 อันเป็นแนวคิดการเมืองนำการทหาร และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
สาระสำคัญของคำสั่ง 66/2523 ประกาศใช้เมื่อ 23 เมษายน 2523 คือการกำหนดนโยบายให้ส่วนราชการต่างๆ ต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการรุกทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เน้นหนักในการปฏิบัติทั้งปวง เพื่อลิดรอนทำลายขบวนการแนวร่วมและกองกำลังติดอาวุธเพื่อยุติสถานการณ์ปฏิวัติ ยับยั้งการปฏิบัติเพื่อสร้างสถานการณ์สงครามประชาชาติด้วยนโยบายเป็นกลาง และขยายผลจากโอกาสที่เปิดให้เพื่อเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธมาเป็นการต่อสู้ในแนวทางสันติ
คือการยุติการปราบปราม แล้วหันมาใช้กระบวนการพูดคุยและเจรจาแทน โดยมีการเปิดโต๊ะเจรจากับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่มีข้อมูลบางส่วนว่าให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และหัวใจสำคัญของคำสั่ง 66/2523 คือเปิดรับผู้ผลงปิด เข้าร่วมเป็น “ผู้พัฒนาชาติไทย”
โดย พล.อ.เปรม ได้กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดการประชุมการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ และแถลงนโยบายการ66/23ต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2523ว่า
“ประการแรก การต่อสู้ต้องถือเป็นสงคราม ซึ่งต้องมีกองบัญชากรที่มีเอกภาพ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ที่ถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และมีการปฏิบัติที่เป็นจริง ตลอดจนมีกำลังที่มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอ
ประการที่สอง ต้องชี้ขาดด้วยงานการเมือง โดยมีการทหารเป็นฝ่ายสนับสนุนและส่งเสริม ต้องทำให้ประชาชนสำนึกว่าแผ่นดินนี้เป็นของตนที่จะต้องปกปักรักษา การจะเอาชนะคอมมิวนิสต์ได้ต้องสร้างส่วนดี และขจัดเงื่อนไขสงครามที่นำความทุกข์ยากมาสู่ประชาชนให้หมดสิ้น
ต้องคำนึงถึงความผาสุขของประชาชน ยึดมั่นผลประโยชน์ของคนในชาติ ขจัดเหตุไม่เป็นธรรมในสังคมทุกระดับชั้น ทำลายการกดขี่ ขูดรีด สร้างความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน”
ผลพวงจากนโยบายดังกล่าว ทำให้รัฐบาลพล.อ.เปรมสามารถเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ในอีก 4 ปีต่อมา
พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา
(บทพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
จากหนังสือกฤษณาสอนน้องคำฉันท์)