เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนที่อยู่ฟากฝั่ง ที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” อันมี “พรรคเพื่อไทย” ถือธงนำที่พยายามกระแทกเข้าใส่ “พรรคประชาธิปัตย์” ตลอดหลายวันที่ผ่านมา ดูแทบไม่มีความหมายเท่าใดนัก โดยเฉพาะเมื่อยามนี้ “เกมการเมือง”บนกระดาน เหลือ “ผู้เล่น” ที่เปิดหน้าออกมาฟาดฟันกันเอง เพียง “พลังประชารัฐ” กับ “ประชาธิปัตย์” เป็นตัวหลัก
ตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ที่มี “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ คว้าชัยไปครองในครั้งนี้ ได้สะท้อนภาพความเชี่ยวกรำทางการเมืองอันชัดเจนในชั้นเชิง ระหว่าง “ประชาธิปัตย์”กับ “พลังประชารัฐ” ว่าที่สุดแล้ว ศึกยกแรกประชาธิปัตย์ เป็นฝ่านกดดันและกุมชัยชนะได้สำเร็จ
และเมื่อเสร็จสิ้นจากวาระการเลือกประธานฯ ผ่านพ้นไปแล้ว ก็ยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนจากฟากประชาธิปัตย์ ว่าด้วยเรื่องของการ “ร่วมรัฐบาล”กับพลังประชารัฐ แกนนำพรรคระบุเพียงว่า เรื่องของการเลือกตั้งประธานฯกับการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลนั้น ไม่เกี่ยวข้องกัน ไม่มีการนำวาระการเลือกตั้งประธานสภาฯมาเป็นเครื่องต่อรองใดๆ
“ การที่จะต้องเข้าร่วมรัฐบาล ต้องเอาไว้ถามหัวหน้าพรรค แต่ส่วนนี้เป็นส่วนที่เจาะจงมาว่าถ้าเป็นผมเขาจะยอมรับ เพราะเชื่อว่าผมยุติธรรม
ซึ่งในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติตนจะต้องรักษาจุดนี้เอาไว้ และยืนยันว่าไม่ได้เป็นข้อต่อรอง เพราะถ้ามีข้อต่อรองผมก็จะไม่รับ และไม่มีเงื่อนไข แม้กระทั่งว่าจะต้องไปอยู่ในโควต้า” บางส่วนจากการแถลงเปิดใจของ ชวน ภายหลังที่ประชุมส.ส. มีมติเลือกให้ทำหน้าที่ประธานสภาฯ
เบื้องลึกเบื้องหลังในการขับเคี่ยวกันระหว่างประชาธิปัตย์กับพลังประชารัฐ ยาวนานหลายชั่วโมง ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่ของวันที่25 พ.ค. เมื่อมี “คำสั่ง” จาก “บิ๊ก” ในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และบิ๊กรัฐบาล ให้แกนนำพรรคพลังประชารัฐ “ดิ้นสู้” กับเกมของประชาธิปัตย์ ด้วยการ “สกัด” ไม่ให้มีการประชุมสภาฯ โดยให้เลื่อนวันพิจารณาออกไปนั้น เพราะไม่ต้องการเดินเข้าทางของประชาธิปัตย์ จนต้องยอมยกมือให้กับชวน แต่สุดท้าย งานนี้พลังประชารัฐ กลับเป็นฝ่าย “เสียหาย”
เพราะก่อนหน้านี้มีเสียงท้วงติงภายในพรรคพลังประชารัฐเองว่าไม่ต้องการยกตำแหน่ง “ประมุขสภาล่าง” ให้กับ “ชวน หลีกภัย” ให้กับประชาธิปัตย์ เพราะจะเท่ากับเป็นการเสีย เก้าอี้ใหญ่ ไปโดยที่เกมการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี ในครม.ใหม่เอง ก็ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่า พลังประชารัฐ จะต้องเสียเก้าอี้ตัวไหนให้กับ ประชาธิปัตย์ที่ดึงมาเข้าร่วมรัฐบาลอีก
“ศึกวัดใจ” ครั้งต่อไปจากนี้ย่อมจะอยู่ที่การโหวตเลือก “นายกฯคนที่ 30” ซึ่งพลังประชารัฐ เองในฐานะพรรคนั่งร้าน ให้กับ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. จะต้องผลักดันภารกิจ ให้ลุล่วง อาจจะต้อง “เหนื่อยหนัก” กว่าวันที่เลือกประธานสภาฯ อีกหลายเท่านัก