ทวี สุรฤทธิกุล
คนและสถาบันในระบอบเก่าต้องปรับตัว
“ประชาธิปไตยใหม่” คือแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่คิดจะ “ก้าวข้าม” คนรุ่นเก่า ภายใต้วาทกรรม “ไม่เอาของเก่า” ที่หมายถึงหลายๆ สถาบันที่คนรุ่นใหม่เห็นว่า “เก่าเกินไป” สำหรับ “สังคมใหม่” ของพวกเขา ที่คิดอยากจะทำอะไรเอง อยากจะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ที่รวมถึงการสร้าง “การเมืองใหม่” ภายใต้แนวคิดเรื่อง “ประชาธิปไตยใหม่” ดังกล่าวนั้น
กลุ่มที่เป็นแกนนำในแนวคิดนี้ก็คือพรรคอนาคตใหม่ ที่ชูธงในเรื่อง “ประชาธิปไตย” มาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการแบ่งฟากฝ่ายการเมืองออกเป็นสองขั้ว โดยบอกว่าฝ่ายที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจนั้นคือ “ฝ่ายเผด็จการ” ส่วนฝ่ายที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจนี้เป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการสร้างวาทกรรมที่ “น่าสะพรึง” ว่าพรรคอนาคตใหม่นี้คือผู้สืบสานเจตนารมณ์ของ “การปฏิวัติ 2475” ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ
พลันที่สังคมไทยพวกกระแสหลักออกมาต่อต้านว่า แนวคิดการปฏิวัติ 2475 นั้นก็คือ การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ พรรคอนาคตใหม่ก็ดูจะหยุดไม่ต่อความยาวสาวความยืด แต่ในท่ามกลางความสงบเงียบ หลายคนก็ยังเชื่อว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ในพรรคการเมืองพรรคนี้ น่าจะยังไม่ล้มเลิกความคิดดังกล่าว แต่คงจะฟื้นฟูแนวคิดนี้ขึ้นมาอีก หากได้มีอำนาจควบคุมสภาได้
ผู้เขียนเติบโตเป็นวัยรุ่นขึ้นมาในช่วง “ฟ้าสีทองผ่องอำไพ” ได้เข้าร่วมในการขับไล่เผด็จการทหารในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 แม้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นจะสงบลงด้วยพระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 แต่ในหมู่นักศึกษาและปัญญาชนในยุคนั้นก็ยัง “เห่อ” ความเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งแน่นอนว่าแนวคิดของลัทธินี้ “ต่อต้าน” การดำรงอยู่ของสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ แต่กระนั้นคนรุ่นใหม่ในยุคนั้นก็ยังเชื่อว่า ถ้าจะให้สังคมไทยเป็น “ฟ้าสีทอง” อย่างแม้จริง ก็จะต้องทำให้ทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่มีอภิสิทธิ์ชน อย่างที่เรียกกันทั่วไปว่า “ระบอบศักดินา” ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็คือส่วนหนึ่งของระบอบนี้
กระแสต่อต้านแนวคิดนี้ก็รุนแรงมากเช่นเดียวกัน อันนำมาซึ่งเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยการจัดตั้งมวลชนของฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของฝ่ายทหาร ขึ้นมาต่อสู้กับกลุ่มนักศึกษาและปัญญาชนอย่างดุเดือด ถึงขั้นมีการปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นที่ชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา โดยฝ่ายต่อต้านออกข่าวโหมกระพือว่า พวกที่ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นเป็นคอมมิวนิสต์ และ “ไม่ใช่คนไทย” ถึงขั้นที่มีการจับนักศึกษาจำนวนหนึ่งมาทุบตี เอาไม้เสี้ยมแหลมแทงหน้าอก บ้างก็เอาไปแขวนคอกับต้นมะขามที่ริมสนามหลวง แล้วปลดลงมาเผาด้วยยางรถยนต์ ซึ่งเป็นภาพการทารุณกรรมที่โหดเหี้ยมอย่างที่สุด
ผู้เขียนมีความเชื่อส่วนหนึ่งว่า คนรุ่นใหม่ใน พ.ศ. นี้กับเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว น่าจะเป็นคนละกลุ่มแนวคิด คนรุ่นใหม่ใน พ.ศ.นี้ไม่น่าจะมีแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ ในทำนองเดียวกันคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ก็น่าจะไม่กล้าที่จะทำอะไร “รุนแรง” จนถึงขั้นที่จะทำให้เกิด “สงครามกลางเมือง” และล้มล้างสถาบันต่างๆ ได้ เพราะในอดีตพวกคอมมิวนิสต์ในไทยได้รับการสนับสนุนจากภายนอกประเทศ ทั้งยังมีกองกำลังสู้รบอยู่ในหลายๆ พื้นที่ อันแสดงถึงมีการครอบครองอาวุธและการจัดตั้งเพื่อการทำสงคราม แต่ในปัจจุบันกองกำลังในลักษณะดังกล่าวไม่น่าจะมีแล้ว (จะมีก็แต่ในทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นเรื่องของการแบ่งแยกดินแดนและความเชื่อทางศาสนา ที่มีการสนับสนุนจากต่างชาติและกลุ่มก่อการหลายบางกลุ่ม) หรือถ้าจะจัดตั้งขึ้นก็คงจะลำบาก เว้นแต่การกระจายก่อวินาศกรรม หรือมีต่างชาติให้การสนับสนุน แต่ที่สำคัญที่สุด และที่จะเชื่อมโยงกับคนเดือนตุลาเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อนก็คือ “บทเรียน” ที่คนรุ่นใหม่ในยุคนี้น่าจะได้บทเรียนจากการต่อสู้เมื่อสีสิบกว่าปีนั้นว่า “คนไทยไม่ชอบความรุนแรง” ดังจะเห็นได้จากการต่อสู้ระหว่าง “เสื้อสีต่างๆ” ในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งผู้ที่ใช้ความรุนแรงมักจะไม่ประสบความสำเร็จ
แต่ที่น่ากลัวกว่า “ระเบิดและปืน” ก็คือ “โซเชียลมีเดีย” หรือ “สงครามไซเบอร์” ซึ่งคนรุ่นใหม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้เป็นอย่างดี เมื่อรวมเข้ากับมันสมองของผู้วางแผนยุทธศาสตร์ทางการเมือง อันเชื่อได้ว่าน่าจะมีนักการเมืองระดับ “เซียน” เข้ามาช่วยในเรื่องนี้มากพอสมควร จึงทำให้การเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้ดู “น่ากลัว” ถึงขั้นที่ “ฝ่ายเหยี่ยว” ในรัฐต้องการที่จะ “ปราบ”
ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง(ด้วยอาวุธหรือการข่มขู่ปราบปราม)ในการต่อสู้แบบนี้ ถ้าเป็นไปได้ควรจะ “เปิดพื้นที่” ให้คนพวกนี้ได้ออกมาต่อสู้อย่างเปิดเผย โดยเฉพาะใน “โลกไซเบอร์” ที่ควรจะเปิดกว้างให้มีการแสดงออกในเรื่องนี้ได้พอสมควร เพราะจะเป็นการทำให้การต่อสู้มีความโปร่งใส ภายใต้กติกาทางสังคม เช่น กฎหมายต่างๆ ที่เป็นธรรม โดยให้สาธารณชนได้รับรู้ในการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆ โดยตลอด ไม่ใช่ปิดข่าวเรื่องการจัดการกับฝ่ายต่อต้านรัฐ เหมือนกับการจัดการกับผู้ก่อการร้าย ในขณะเดียวกันก็ต้องมีผู้ออกมาคอยชี้แจงว่า ทำไมจึงจะต้องขอความร่วมมือในเรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือให้ข้อแนะนำว่าอะไรที่ทำได้หรือทำไม่ได้ รวมถึงหากมีการลงโทษก็ต้องชี้แจงสาเหตุและเหตุผลให้ชัดเจนด้วย
สมันก่อนถ้าเราจะสร้างความเข้าใจกัน เราก็ใช้การสื่อสารระหว่างตัวบุคคลเป็นหลัก เช่น จัดเวทีเปิดอกพูดคุยกัน ถกเถียง อภิปราย และเสวนา แต่ในสมัยใหม่สื่อต่างๆ ยิ่งเปิดกว้าง สามารถพูดคุยกันได้อย่างหลากหลาย ทั้งนี้เมื่อโลกเปิดกว้าง สังคมไทยก็ควรเปิดกว้างด้วย
อันว่าโลกไซเบอร์นั้น ยิ่งปิดยิ่งระเบิด ยิ่งเปิดยิ่งผ่อนคลาย