เกมการเมืองไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่ว่าใครจะชนะหรือพ่ายแพ้จาก "สนามเลือกตั้ง" แต่เกมใหม่ๆ ก็พร้อมที่จะเริ่มต้นได้เสมอ ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งกุมชัยชนะและอีกฝั่งหนึ่งอยู่ในอาการเพลี่ยงพล้ำ ! สภาพการณ์ที่เกิดขึ้น ของการเมืองไทยหลังผ่านพ้นวาระการเลือกตั้งส.ส.เมื่อ24 มีนาคม ก็กำลังดำเนินไปในลักษณะดั่งที่ว่า การจับขั้วเพื่อชิงการจัดตั้งรัฐบาลดำเนินมาอย่างเข้มข้น นับตั้งแต่วันที่ ทุกพรรคการเมือง ยังไม่รู้ตัวเลขส.ส.ในมือของตัวเองด้วยซ้ำ เพราะต้องไม่ลืมว่าแท้จริงแล้วการแบ่งขั้วนั้นมีขึ้นตั้งแต่ก่อนลงสนามเลือกตั้งอยู่แล้ว นั่นคือ ฟากพรรคการเมืองที่ประกาศตัวเป็น "ฝ่ายประชาธิปไตย" นำโดย พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ ร่วมด้วยพรรคพันธมิตร อีก 5พรรค คือพรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคเสรีรวมไทยและพรรคพลังปวงชนชาวไทย จากวันที่ "7 พรรค" ปีกประชาธิปไตย ประกาศจัดตั้งรัฐบาล ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ต้องยอมรับว่า ยังไม่มีอะไรที่บอกว่า สถานการณ์และ "ตัวเลขส.ส." จากฟากนี้ "นิ่ง" ในทางตรงกันข้ามกลับมีแต่ "ข่าวลือ" ที่สะพัดไม่หยุดหย่อน ในท่วงทำนองว่า เสียงที่ประกาศลงสัตยาบัน จำนวน 255 เสียงในวันนั้น จะเหลือสักเท่าใด ในวันนี้ โดยเฉพาะมีรายงานข่าวว่า พรรคพลังประชารัฐส่ง "มือดี" มาทาบทาม ดึงคนจากพรรคต่างๆในปีกนี้ อย่างต่อเนื่อง บ้างตัดสินใจไปร่วมยกมือโหวตหนุน "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในสภาฯเรียบร้อยแล้ว หลายคนในพรรคเพื่อไทยเอง ถึงกับก้มหน้ายอมรับ "ชะตากรรม" ว่าถึงอย่างไร ก็อาจจะต้องจำใจเป็น "ฝ่ายค้าน" เพราะงานนี้พรรคพลังประชารัฐ "ดิ้นทุกทาง" เพื่อให้ได้จัดตั้งรัฐบาล หนุน พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็น "นายกฯคนที่ 30" ให้บรรลุเป้าหมาย แต่ถึงกระนั้น ใช่ว่าพรรคพลังประชารัฐเอง ในฐานะพรรคอันดับสอง ที่ดูจะเป็นฝ่ายกุมทุกความได้เปรียบเอาไว้แทบทุกประตู จะเดินหน้าไปได้ด้วยความราบรื่น ไร้แรงต้านแต่อย่างใด ! ในทางตรงกันข้าม แกนนำในปีกพลังประชารัฐ หลายคนก็อดที่หวั่นไหวไม่ได้ว่า แม้พลังประชารัฐจะสามารถตั้งรัฐบาลได้ แต่มีโอกาสที่จะเป็น "รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ" โดยไม่ต้องคาดเดา แน่นอนว่าชะตากรรมของรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ย่อมจะง่ายต่อการถูก "ท้าทาย" จากฝ่ายค้านอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อเสียงในสภาล่างของปีกพลังประชารัฐ ไม่ชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่สามารถทิ้งห่างฝ่ายค้าน อย่างถล่มทลาย "การลองของ" กันกลางสภา ฯ ก็จะกลายเป็น สิ่งที่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ต้องเผชิญ ว่ากันว่าความเข้มข้นของ "ศึกกลางสภาฯ" นั้นไม่จำเป็นที่ฝั่งตรงข้ามจะต้องไปรอวาระการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจให้เสียเวลา อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นและนับเป็นการ "เรียกน้ำย่อย" เพื่อเปิดฉากให้ สภาผู้แทนฯ ต้องกลายเป็น "สนามรบ" ขนาดย่อมๆ ก็คงไม่พ้นวาระของการประชุมสภาผู้แทนฯเพื่อเลือก ประธานและรองประธานฯ ในวันที่ 25พ.ค.นี้ อย่างแน่นอน โอกาสประดาบเพื่อประลองกำลังระหว่าง "สองขั้วการเมือง" หลังการเลือกตั้ง ที่ต่างพกพาเอาความแค้น ความไม่พอใจทั้งจากการต่อสู้ในอดีต จนมาถึงการพ่ายแพ้ในการจัดตั้งรัฐบาล จะถูกแปรเปลี่ยนไปสู่การเดินหน้าลุยเกมในสภาล่าง อย่างเข้มข้น โดยไม่หยุดหย่อน !