อะไรที่ทำให้บรรดาพรรคการเมืองน้อย ใหญ่ พากันเปิดเกม “ต่อรอง” ออกอาการยึกยัก ต่อการประกาศจุดยืนกรณีการเข้าร่วมรัฐบาล กับ “พรรคพลังประชารัฐ” อย่างเห็นได้ชัด
ทั้ง “ประชาธิปัตย์” และ “ภูมิใจไทย” ยังคงดำเนินบทบาท “แทงกั๊ก” จนถูกเสียดสี ว่าเป็นเพราะ “โควต้า” ในตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ยังไม่ลงตัว ยังไม่เป็นที่พอใจหรือไม่
แต่น่าสนใจว่า หากเป็นเช่นนั้นจริง ด้วยเงื่อนไขประการเดียวคือการต่อรองเพื่อกดดันพลังประชารัฐ ทั้งที่รู้ดีว่า ยิ่งปล่อยให้ระยะเวลายืดเยื้อออกไป ฝ่ายที่ได้เปรียบ ก็ไม่ใช่ใครอื่น หากแต่คือ รัฐบาลของ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั่นเอง เพราะจะสามารถนั่งเป็นรัฐบาล และคง “มาตรา 44” อยู่ได้ต่อไป จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่
ขณะเดียวกัน สำหรับฝ่ายพลังประชารัฐ และตัวพล.อ.ประยุทธ์ เองก็มีอาการแข็งขืน ไม่ยอมจำนนต่อ “สงครามจิตวิทยา” จากพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ด้วยการยอมทำตามข้อเรียกร้อง ด้วยการเกลี่ยเก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงหลักๆ
กาลกลับตาลปัต เพราะจนบัดนี้ยังไม่มีสัญญาณว่า “คสช.”และพรรคพลังประชารัฐ จะยอมปล่อย “4กระทรวงหลัก” ให้ไปอยู่ในมือของพรรคแนวร่วมพันธมิตร โดยทั้ง4 เกรด A ยังคงถูกกุมเอาไว้เช่นเดิมทั้งกลาโหม-คลัง -มหาดไทยและคมนาคม
ประหนึ่งว่าพรรคพลังประชารัฐ คล้ายจะยินยอมเป็น “รัฐบาลเสียงข้างน้อย”
ขณะที่ฟากพรรคแนวร่วมพันธมิตร ทั้ง ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยที่กล้า “เขย่าขวัญ” คสช.และพลังประชารัฐเช่นนี้ เพราะส่วนหนึ่งประเมินแล้วว่า รัฐบาลชุดนี้ อาจจะอยู่ไม่ครบเทอม !
เสียงที่กำลังดังอยู่ในความเงียบตลอดหลายวันที่ผ่านมา ทั้งจากพรรคฝ่ายประชาธิปไตย กับฝ่ายพรรคแนวร่วมพลังประชารัฐ เองก็ดูจะไม่แตกต่างกันมากนัก
นั่นคือเมื่อโอกาสที่พรรคพลังประชารัฐ จะกลายเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ แถมยังจะอยู่ไม่ยาวเช่นนี้แล้ว มีความจำเป็นหรือไม่ที่ประชาธิปัตย์จะต้องเทชนิดหมดหน้าตัก ด้วยการกระโดดลงไปร่วมรัฐบาลโดยไม่มีอาการลังเล !
สารพัดเหตุผลที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็น “เงื่อนไข” ที่ทำให้วันนี้พรรคภูมิใจไทย ยังไม่ยอมประกาศสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ และเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ล้วนแล้วแต่มาจากปัญหาที่รายล้อมอยู่รอบตัว พล.อ.ประยุทธ์
ทั้งที่มาของ “250 สว.” ที่กำลังกลายเป็น “รอยด่าง” ภายใต้ข้อหาที่ว่า ตั้งกันเองกับมือ เพราะเต็มไปด้วย “คนกันเอง” เต็มสภาสูง
“วันนี้สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล คือพรรคภูมิใจไทยยังไม่ได้รับการประสานงานอย่างเป็นทางการ จากพรรคการเมืองใดๆในการจัดตั้งรัฐบาล สมาชิกพรรคจึงมีมติ มอบอำนาจให้หัวหน้าพรรคเป็นผู้ดำเนินการประสานงานกับพรรคการเมืองที่ยังไม่มีมติชัดเจน ว่าจะเลือกไปร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองข้างใด โดยนายอนุทิน จะเชิญพรรคเหล่านั้นมาหารือภายใน 2 – 3 วันนี้ เพื่อให้เกิดมติที่ชัดเจนทางการเมือง และความชัดเจนต่อประชาชน” ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยการประชุมสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ที่ยกคณะกันปักหลักถึงบุรีรัมย์
และการระบุถึง “ทุกพรรคที่ยังไม่มีมติชัดเจน” นี่เอง อันหมายความถึง ประชาธิปัตย์ และ พรรคชาติไทยพัฒนา ที่มีอยู่ 10 ที่นั่ง กำลังสะท้อนให้เห็นว่า นาทีนี้ พรรคพลังประชารัฐ และคสช. กำลังเผชิญกับการต่อรองอย่างหนัก ด้วยเพราะภาวะเสียงปริ่มน้ำ ไปพร้อมๆกับ การปลุกกระแส “นายกฯคนนอก” ขึ้นมาเขย่า อย่างต่อเนื่อง