เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com การประชุมสุดยอดเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์เมื่อต้นปี 2018 มีข้อสรุปเรื่องทักษะ7 ประการ ที่เด็กแห่งศตวรรษที่ 21 “ต้องมี” เพื่อให้สามารถทำงานและอยู่ได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วนี้ โดยเขาเน้นที่โรงเรียน ขอขยายความดังนี้ 1. ความคิดวิพากษ์และแก้ปัญหาเป็น โรงเรียนควรสอนเด็กให้ตั้งคำถามและคิดเองได้ ไม่ใช่สอนแต่คำตอบสำเร็จรูป หรือท่องจำคำตอบหรือความคิดของครู ผู้ซึ่งต้องยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างของเด็ก ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ การมีเหตุผลในความคิดต่าง 2. ความร่วมมือและการการเป็นผู้นำด้วยการชักจูง คือ ให้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น เรียนรู้การนำด้วยบารมี มิใช่ด้วยอำนาจสั่งการ หรือด้วยกฎระเบียบ เป็นทักษะทางสังคม คือ EQ คืออยู่ร่วมกับคนอื่นเป็น ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ เห็นอกเห็นใจ 3. ความคล่องตัวตัวและปรับตัวเป็น เด็กรู้จักเรียนรู้ใหม่ (relearn) เพื่อปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเร็ว มีความยืดหยุ่น รู้จักประนีประนอม รับฟัง ปรับปรุงแก้ไข 4. การริเริ่มและความคิดแบบนักประกอบการ เด็กควรได้รับแรงบันดาลใจให้ “ทำเป็น” ไม่ใช่ “ดีแต่พูด” สร้างสรรค์สิ่งใหม่ เรียนด้วยการลงมือปฏิบัติ ไม่ใช่ท่องหนังสือไปสอบ ท่องแต่ทฤษฎีไม่มีรูปธรรม 5. สื่อสารด้วยการพูดและการเขียนได้ดี การสื่อสารชัดเจนคือกุญแจสำคัญของเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ที่ใช้ความรู้เป็นฐาน สำคัญ เพราะโลกยุคใหม่เป็นโลกแห่งปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน องค์กร เป็นโลกที่ต้องมีทักษะดีในการสื่อสารสัมพันธ์กับผู้อื่น กับสังคม 6. การเข้าถึงและการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร เด็กต้องแยกแยะระหว่างข้อเท็จกับข้อจริงเป็น ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารความรู้ ที่เทคโนโลยีทันสมัยทำให้ไหลเวียนท่วมท้นจนต้องเลือกให้เป็น แยกให้ได้ เพราะมีข้อมูลที่เป็นเท็จ 7. การอยากรู้อยากเห็นและจินตนาการ เด็กต้องเป็นนักสืบค้น ครูส่งเสริมการสร้างสรรค์ นวัตกรรม ให้ปลดปล่อยศักยภาพของพวกเขาเต็มที่ ไม่กดดัน กดทับศักยภาพไม่ให้เจริญเติบโต นี่คือทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่องานแห่งอนาคต ความปรารถนาของบรรดานักเศรษฐศาสตร์และนายจ้าง ที่อยากได้ลูกจ้างที่เหมาะสมกับงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความท้าทายสูง นักจิตวิทยาก็มีกรอบเกณฑ์คล้ายกัน ที่เพิ่มเติมอย่างสำคัญ คือ 1) การรู้ตัวเอง (self-awareness) การมีสติ มีสมาธิ 2) มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ มีเป้าหมาย และแรงจูงใจที่ไม่ได้มาจากการถูกบังคับ หรือเพราะรางวัลหรือการลงโทษ แต่มาจาก “ใจ” 3) มีพลังใจเข้มแข็ง ไม่ท้อ ล้มแล้วรู้จักลุก คนที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่คนที่ไม่เคยผิดพลาด แต่คือคนที่ล้มแล้วลุกเป็น เดินหน้าไม่ยอมแพ้ 4) สอนให้แสวงหาและมองโลกที่แตกต่างได้ ไม่ใช่บังคับให้คิดและมองเห็นโลกเดียว วีธีคิดเดียว ในฐานะคนทำงานพัฒนาสังคม พัฒนาชุมชนคนรากหญ้า ขอให้ข้อสังเกตเชิงวิพากษ์ว่า ทั้งนักเศรษฐศาสตร์ ที่ประชุมที่ดาวอส นักจิตวิทยา นักการศึกษา ล้วนแต่เป็นคนจากประเทศพัฒนาแล้ว เป็นเจ้าของทุน เจ้าของการประกอบการข้ามชาติที่ไปร่วมงานนี้ เป็น “นายจ้าง” ที่อยากได้ลูกจ้างดี แม้ว่าจะมีตัวแทนจากประเทศกำลังพัฒนา แต่ที่สุด ถ้าใช้ภาษาวิเคราะห์แบบซ้ายเก่า เหล่านี้ คือแนวคิดของนายทุนและจักรวรรดิ์นิยมใหม่ ลัทธิอาณานิคมใหม่ สังเกตให้ดี แม้จะมีการพูดเรื่องทักษะความร่วมมือ การปรับตัว แต่ไม่มีการพูดถึงทักษะที่ทำให้เคารพ “สิทธิ” ของผู้อื่น เคารพความเป็นธรรม ความเสมอภาค จิตใจที่เป็นประชาธิปไตย ไม่พูดเรื่องการเรียนรู้วินัยชีวิต การเคารพกฎหมาย ไม่พูดเรื่องหลักนิติธรรม (rule of law) ในระดับสากล รากฐานของการค้าที่เป็นธรรม (fair trade) ไม่ใช่พูดแต่การค้าเสรี (free trade) ที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำ พวกเขามองข้าม (take it for granted) เรื่องสิทธิ ความเป็นธรรม ไม่ต่างจากการนำสารเคมีฆ่าหญ้าฆ่าแมลงมาขาย แล้วบอกว่า ไม่เป็นอันตราย แต่ในประเทศตนเองกลับห้ามใช้ อ้างหลักนิติธรรมในบ้านตนเอง แต่ไม่เคารพนิติธรรมในบ้านเมืองอื่น สิทธิเป็นเรื่องการเคารพคนอื่น สร้างรากฐานการมีวินัยกับตัวเองและกับคนอื่น การอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมประชาธิปไตยที่ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีสิทธิเสรี เสมอภาค และด้วยความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง เพราะแม้ทักษะที่พึงปรารถนาข้อแรกจะว่าด้วยความร่วมมือ ให้ทำงานร่วมกับคนอื่นเป็น แต่ไม่ได้บอกว่าจะต้องไม่เอาเปรียบ ไม่เอาชนะ ซึ่งโรงเรียนจะต้องสอนเรื่องนี้ แต่ระบบโรงเรียนทำให้เด็กแข่งขัน เอาชนะ เป็นระบบที่แพ้คัดออก เด็กที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังยังมีอีกมาก ระบบเองที่สร้างความเหลื่อมล้ำ การสอนไม่ให้เอาเปรียบ ไม่ให้ผูกขาด แต่แบ่งปันโอกาส แบ่งปันทรัพยากรแก่ผู้อื่น ดาวอสไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ และไม่ได้เน้นว่าเป็นทักษะที่ต้องมี หรือที่พึงปรารถนาเพื่อให้เกิดการพัฒนายั่งยืน ร่วมมือกันทำให้ทรัพยากรยังอยู่เผื่อลูกหลานในอนาคต ไม่ได้เน้นเรื่องการพัฒนาจิตสำนึกให้เคารพสิ่งแวดล้อม เคารพตนเอง เคารพคนอื่น ซึ่งต้องเป็นรากฐานของการพัฒนาศักยภาพและทักษะของเด็ก ไม่เช่นนั้นก็จะสร้างคนที่มีทักษะในการคิดสร้างสรรค์เพื่อเอาเปรียบคนอื่น ผูกขาด ไม่ได้แตกต่างอะไรจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นแนวคิดที่มองชีวิตแยกส่วน แยก “คุณธรรม” ออกไป ทำให้คนเป็นเพียงแรงงาน วางรากฐานการแข่งขัน การผูกขาด การเอาเปรียบกันตั้งแต่เด็กเล็ก สังคมไทยก็รับปรัชญานี้มาทั้งดุ้น เน้นการสร้างแรงงาน แปรเป็นการศึกษาไทย แต่ไม่เป็นไท