เวลาพูดถึงคำว่า “ประชาธิปไตย” นั้น หมายถึงอะไร อาจนึกถึงนิยาม ที่ อับราฮัม ลินคอร์น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวไว้ ก็คือ “ประชาธิปไตย เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน” ทว่าหากจะให้อธิบายความหมายของประชาธิปไตยที่แท้จริงอย่างลึกซึ้งนั้น เป็นอย่างไรในมุมมอง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ถอดความต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว มีความดังนี้ “จริงอยู่รูปแบบนั้นก็มีความสำคัญ สิ่งทั้งหลายก็ต้องอาศัยรูปแบบเป็นเครื่องห่อหุ้ม เนื้อมะม่วง ก็ต้องมีเปลือกมะม่วงหุ้มเนื้อมะม่วง หากไม่มีเปลือกมะม่วง มะม่วงก็อยู่ให้เรารับประทานไม่ได้ น้ำถ้าไม่มีแก้วช่วยก็รับประทานได้ยาก จะเอามือวักมันก็ได้นิดหน่อย หรือจะเอาปากดื่มเลยก็ยิ่งยุ่งยากลำบากมาก ก็ต้องอาศัยแก้ว อาศัยขวด บรรจุน้ำ น้ำจะได้อยู่ในสภาพที่บริบูรณ์และใช้ได้ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพราะฉะนั้นเปลือกที่ห้อหุ้มก็มีความสำคัญ แต่ในเวลาเดียวกันถ้ามีแต่เปลือกไม่มีเนื้อ ก็ไม่มีประโยชน์ มีแต่แก้ว ไม่มีน้ำ ชื่นชมว่าเรามีแก้ว แต่ไม่มีน้ำจะดื่ม ก็ไม่ได้ความ หรือว่ามีแต่เปลือกมะม่วง ไม่มีเนื้อมะม่วงก็แย่เลย ไม่รู้จะเอาไว้ทำอะไรเพราะฉะนั้นเนื้อหา กับเปลือกนี้ หรือว่าสาระ กับรูปแบบต้องคู่กัน จะมีแต่อย่างใด อย่างหนึ่งนั้นก็ไม่สำเร็จตามประสงบค์ได้เต็มที่ แต่สิ่งที่เราประสงค์คือเนื้อหา ไม่ใช่รูปแบบ รูปแบบเป็นสิ่งที่คงไว้ หรือรักษาไว้ซึ่งเนื้อหา ฉะนั้นในเรื่องประชาธิปไตยนี่ก็เหมือนกัน ก็มีทั้งเรื่องรูปแบบและก็เนื้อหาสาระ ทีนี้สิ่งที่เราได้พิจารณามองเห็นกันมากคือรูปแบบ ที่เราก็ถือว่าสำคัญเหมือนกัน แต่เราจะทำอย่างไรให้รูปแบบนั้นทรงไว้ด้วยเนื้อหาด้วย ให้เนื้อหานั้นมีอยู่ในรูปแบบ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องคิดกันให้หนัก เพราะฉะนั้นการพัฒนาประชาธิปไตยนั้นจะมองเฉพาะรูปแบบไม่เพียงพอ เรื่องเนื้อหาสาระนี้สำคัญมาก การปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น ก็มีเนื้อหาสาระของมัน ซึ่งเนื้อหาก็มีหลายอย่างหลายประการ อย่างโดยหลักการอย่างหนึ่งของประชาธปิไตยก็คือว่า แต่ก่อนนี้เรามีการปกครองที่ว่า มีคนๆหนึ่งที่ซึ่งมีอำนาจเต็ม อาจจะเป็นพระมหากษัตริย์หรือพระราชามีอำนาจปกครอง ตัดสิน ลงโทษทุกอย่าง เรามองคล้ายกับว่า คนทั่วไป ยังปกครองตัวเองไม่ได้ ก็ต้องมีคนๆหนึ่งที่มี เก่งกล้าสามารถมาช่วยปกครองจัดการให้คนอยู่กันได้อย่างสงบเรียบร้อย ต่อมาเราเห็นว่าคนทั้งหลายน่าจะปกครองกันเองได้ โดยเฉพาะเมื่อคนมีสติปัญญาดีขึ้นมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถคิดได้ด้วยตนเอง สามารถพิจารณาเหตุผล เราก็คิดว่าควรจะปกครองกันเอง การที่ประชาชน ปกครองกันเอง นี่ก็คือหลักการอย่างหนึ่งของประชาธิปไตย ทีนี้คนที่จะปกครองกันเอง ข้อสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ แต่ละคนควรเป็นคนที่ปกครองตัวเองได้ ถ้าปกครองตัวเองไม่ได้ก็มาปกครองกันเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นการปคกรองแบบประชาธิปไตย ก็คือการปกครองกันเองที่ประชาชน แต่ละคนปกครองตนเองได้ ถ้าเมื่อไหร่ประชาชนปกครองตนเองได้เป็นผลดีแล้ว เราก็มาช่วยกันปกครองร่วมกัน ก็เป็นการปกครองของประชาขน ที่ประชาชนปกครองกันเอง อันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องพัฒนาคน ให้ปกครองตนเองได้ ถ้าเขาไม่สามารถปกครองตนเองได้แล้ว การที่จะมาร่วมกันปกครองประเทศชาติร่วมกันอยู่ก็เป็นไปได้ยาก”