ทีมข่าวคิดลึก
งานใหญ่ ภารกิจสำคัญกำลังจะเริ่มต้นขึ้นบนความคาดหวังของใครหลายคนว่า "การปรองดอง" น่าจะเกิดขึ้นได้เป็นรูปธรรม ในยุครัฐบาลที่อยู่ภายใต้ เงาอำนาจของ "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือ คสช. อีกทั้งยังต้องไม่ลืมว่าในยุคนี้ "กองทัพ" มีความแข็งแกร่งอย่างที่สุด
นั่นหมายความว่า อำนาจในทางการเมือง และการทหาร อยู่ในภาวะที่หลอมรวมเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน ดังนั้นโอกาสที่ รัฐบาลกับกองทัพจะขัดแย้งกันเองจนทำให้มีอันต้องกระทบกับ "งานใหญ่"จึงเท่ากับเป็นศูนย์ !
ยิ่งเมื่อภารกิจว่าด้วยสร้างความปรองดอง สลายความขัดแย้งในรอบนี้นั้น"บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้มอบ หมายให้ "พี่ใหญ่" อย่าง "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้ามานั่งกำกับการอยูหัวโต๊ะด้วยแล้ว ดูเหมือนว่าภารกิจครั้งนี้ น่าจะได้รับการสนองตอบจากฝ่ายการเมืองมากกว่าที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าสนใจและไม่อาจมองข้าม นอกเหนือไปจากการที่พล.อ.ประยุทธ์ มอบภารกิจสำคัญให้ไปอยู่ในมือของ พล.อ.ประวิตร ครั้งนี้นั้นยังอยู่ที่การนำ "กองทัพ" เข้ามาเสริมทั้งการส่ง "บิ๊กทหาร" เข้าไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการ คณะทำงานชุดต่างๆ นั้นทางหนึ่งคือการสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของกองทัพ ในยุคที่เป็นเนื้อเดียวกับรัฐบาล
วันนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นกับขั้วอำนาจกลุ่มต่างๆ อาจจะยังไม่ได้สลายหายไปไหนก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า "สัญญาณ" ที่เกิดขึ้นในระยะหลังๆ คือการที่ฝ่ายการเมือง รู้ดีว่าพวกเขาควรที่จะอยู่และดำเนินบทบาทต่อไปอย่างไร
เมื่อ คสช. ไม่ยอมให้ไฟเขียว เปิดทางให้พรรคการเมืองจัดกิจกรรมใดๆทางการเมือง ตามที่ได้พยายามเรียกร้องกันมาหลายครั้งหลายครา แต่ในขณะเดียวกัน ฝ่ายการเมืองเองสามารถหาทางออกให้กับตัวเอง ด้วยการหันไปใช้พื้นที่ในโลกโซเซียลแทน และดูเหมือนว่าจะได้ผลอยู่ไม่น้อย
แน่นอนว่าการเดินหน้าในรูปการณ์ดังกล่าวสำหรับฝ่ายการเมือง ย่อมดีกว่าการเลือกวิธี "แข็งขืน" ต่อกรกับ คสช.อย่างไม่ลดละ เพราะจะมีแต่พัง มากกว่าได้
ทั้งนี้การออกมาให้สัมภาษณ์ของ"บิ๊กเจี๊ยบ" พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะ "คีย์แมน"สำคัญในการขับเคลื่อนกองทัพบกที่จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันและสนับสนุนการสร้างงานปรองดองให้เกิดเป็นรูปธรรม ชี้ว่า การปรองดองเป็นสิ่งที่ดีที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจกัน ซึ่งการปรองดองจะเห็นผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เพราะที่ผ่านมาก็มีความพยายามดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะในส่วนของกองทัพบกที่มีศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปตั้งแต่เดือน พ.ค.2557 "ต้องยอมรับว่าในภาพรวมการแบ่งแยกสีและการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของประชาชนน้อยลง แต่อาจมีความคิดเห็นแตกต่างเรื่องการเมืองอยู่บ้าง ซึ่งตนคิดว่าในภาพรวมดีขึ้น เมื่อมีคณะกรรมการปรองดองชุดนี้ขึ้นมาดำเนินการในระดับนโยบายก็เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะเดินไปสู่แนวทางที่ดี" (14 ม.ค.2560) แม้ว่าการดึงกองทัพและบิ๊กทหารเข้ามาผลักดันให้การปรองดองเกิดเป็นรูปธรรม อาจจะต้องเผชิญหน้ากับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายการเมืองอยู่บ้างก็ตาม แต่นาทีนี้ดูจะเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธบทบาทของกองทัพ กับภารกิจใหญ่อยู่ดี