คลื่นลมที่โถมเข้าใส่พรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลง ยิ่งเมื่อวันนี้ พรรคได้หัวหน้าพรรค-เลขาธิการคนใหม่ ออกมาเรียบร้อยแล้ว ยิ่งทำให้แรงกดดันจากพรรคต่างๆ พากันเร่งเร้าเพื่อ “เอาคำตอบ” ว่าสุดท้ายแล้วประชาธิปัตย์ ในยุคของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” หัวหน้าพรรคคนที่ 8 จะเลือกตัดสินใจอย่างไร 52 เสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ในยามนี้เป็น “ตัวแปร” ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อทั้งขั้วการเมืองฝ่ายคสช. นำโดยพรรคพลังประชารัฐ และขั้วประชาธิปไตยที่นำโดย พรรคเพื่อไทย ทั้งสองขั้วต่างออกแรงยื้อยุด ส่งเทียบเชิญ ยื่นไมตรีเพื่อหวังที่จะให้ ประชาธิปัตย์ ตกลงปลงใจยกส.ส. ทั้ง 52เสียงไปรวมขั้ว ด้วย เพราะนั่นจะหมายความถึง “ชัยชนะ” ของฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งทันที ! สำหรับพรรคเพื่อไทย ที่วันนี้ แม้จะเป็นพรรคอันดับ1 กวาดที่นั่งส.ส.เอาไว้ได้มากที่สุด อีกทั้งยังชิงประกาศจัดตั้งรัฐบาลไปก่อนหน้านี้กับอีก 6 พรรคการเมือง จนทำให้ฟากพลังประชารัฐต้องคิดคำนวณกันยกใหญ่ว่าจะเอาชนะได้อย่างไร จากพรรคที่เคยเป็น “คู่แค้น” กันมาอย่างเปิดเผยระหว่าง เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ แต่มาวันนี้กลับกลายเป็นว่า มีเสียงเรียกร้องจากขั้วการเมืองฟากประชาธิปไตยที่กวักมือเชื้อเชิญ ประชาธิปัตย์ให้มาจับมือกับเพื่อไทยกับอีก 6พรรคร่วม รวมถึงพรรคอนาคตใหม่เพื่อต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช. โดยผ่านการเล่นของ พรรคพลังประชารัฐ อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวและท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ต่อการตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐจนวันนี้ยังคงไม่มี “คำตอบ”ออกมาอย่างชัดเจน เพราะต้องไม่ลืมว่าภายในประชาธิปัตย์นั้นมีกลุ่มการเมืองที่คิดเห็นแตกต่างกัน โดยสามารถประเมินได้จาก เสียงโหวตในวันเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ จะเห็นว่าเสียงของทีมที่หนุน “พีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ได้รับแรงหนุนจากกลุ่มถาวร เสนเนียม ซึ่งเชื่อมต่อกับ “กลุ่มกปปส.”นอกพรรค ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล แต่แล้วเมื่อผลปรากฎออกมาว่า ปีกที่หนุน จุรินทร์ กลับมาเป็นฝ่ายกุมชัยชนะในการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ อีกทั้งยังจะเป็นผู้กุมบทบาทภายในพรรคจากนี้ไป จึงทำให้พรรคพลังประชารัฐ เกิดความกังวลว่าที่สุดแล้วประชาธิปัตย์อาจจะไม่ยอมมาทั้งพรรค กระนั้นหากมองในมุมของประชาธิปัตย์เองที่ต้องยอมรับว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคบาดเจ็บ อย่างหนัก ทั้งสืบเนื่องมาจากปัจจัยภายนอก และภายในจนทำให้ประชาธิปัตย์ต้องกลายเป็นพรรคต่ำร้อย และหนึ่งในหลายปัจจัยที่ว่านั้นคือการ “รุกไล่” จากพรรคพลังประชารัฐ เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่จะให้ปีกของ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ออกมายอมรับทุกเงื่อนไขจากคสช.และพลังประชารัฐ โดยไม่อาศัยจังหวะ “เอาคืน” ในห้วงนี้ ก็คงจะเป็นการกระไรอยู่ และที่สำคัญไปกว่านั้น อย่าลืมว่าตราบใดที่การตัดสินใจเพื่อเปิด “คำตอบสุดท้าย” ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อนั้น พรรคประชาธิปัตย์จะยังคงเป็นฝ่ายถือแต้มต่อ อย่างที่เห็น !