สมบัติ ภู่กาญจน์ เมื่อวันครูที่16 มกราคม ที่ผ่านมา ผมนั่งคิดถึง ‘ครู’คนหนึ่งของผม ที่ผมเรียกว่า ‘อาจารย์’ได้อย่างสนิทปากยิ่งกว่าครูอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้ ที่เรื่องของครู-เรื่องของเด็ก-เรื่องของการศึกษา ยังไม่ใช่สิ่งที่ไว้วางใจได้มากนักสำหรับประเทศไทย คิดถึงแล้ว ‘สัญญา’ อันหมายถึงความทรงจำ,ความนึกถึง,ความกำหนดได้ ก็ทำให้คำครูคำนี้ตามติดเข้ามา “ ผมเป็นคนที่เชื่อว่า คนเราเกิดมาเพื่อรู้ ผมก็แสวงหาความรู้นั้น จนพบว่า ความรู้บางอย่างก็เป็นประโยชน์ บางอย่างก็ไม่เป็นประโยชน์ แต่ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ตนที่สุด คือความรู้ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้มานานนับพันปี ” อาจารย์ของผมท่านนั้น คือคนที่กล่าวข้อความนี้ และเป็นที่คนสอนผมให้ไปหาความรู้จากการอ่าน อันเป็นสิ่งที่ผมถนัด ให้มากขึ้น หลังจากที่เราคุยกันเรื่องของความเลื่อนเปื้อนเลอะเทอะของการใช้คำว่า ครู กับ อาจารย์ ในสังคมไทยยุคปัจจุบัน เรื่องราวดังต่อไปนี้ คือส่วนหนึ่งของสิ่งที่ผมหาพบ ด้วยการแนะนำจากอาจารย์ของผม “ สิ่งที่อาจารย์ผู้ปฏิบัติชอบ พึงทำหน้าที่ต่อศิษย์ผู้ปฏิบัติชอบ มีดังนี้ 1. พึงอุปัฎฐากรักษาศิษย์เป็นประจำสม่ำเสมอ 2. พึงรู้จักเวลา ที่ควรเสวนาและไม่ควรเสวนา 3. พึงรู้ว่าศิษย์หลงลืม หรือไม่หลงลืม 4. พึงรู้จักโอกาสที่ดีกว่า(สำหรับศิษย์) 5. พึงรู้ถึงความป่วยไข้ 6. พึงรู้ว่าศิษย์ได้ของกินของใช้แล้ว หรือยังไม่ได้ 7. พึงรู้จักศิษย์ผู้มีความแตกต่างกัน 8. พึงแบ่งปันอาหารในภาชนะ 9. พึงปลอบโยนศิษย์เช่นอย่างนี้ว่า “เธออย่ากลัวไปเลย ผลที่เธอต้องการจะก้าวมาหาเธอ” ดังนี้เป็นต้น 10. พึงรู้จักบุคคลที่ศิษย์ติดต่อด้วย ว่าศิษย์ติดต่ออยู่กับผู้นั้นผู้นี้ 11. พึงรู้จักบุคคลที่ศิษย์ติดต่อด้วย ทั้งในบ้าน และในวัด 12. พึงไม่เล่นคะนองกับศิษย์ 13. พึงทักทายปราศรัยกับศิษย์ 14. พึงอดกลั้น(ไม่ลุแก่โทสะ) เมื่อพบเห็นความผิดของศิษย์ 15. พึงเป็นผู้มีปกติทำ อย่างเคารพ(ในวัตรปฏิบัติ) 16. พึงเป็นผู้มีปกติทำ อย่างไม่ขาดตอน 17. พึงเป็นผู้มีปกติทำ อย่างไม่ปิดบัง(ในสรรพวิชา) 18. พึงเป็นผู้มีปกติทำ อย่างไม่มีเหลือ(ในสิ่งที่สอน) 19. พึงตั้งความคิดให้ศิษย์รู้ว่า เราจะทำให้ศิษย์ได้รู้ ในศิลปทั้งปวง 20. พึงตั้งความคิดให้ศิษย์เจริญว่า ศิษย์จะไม่พบกับความเสื่อม 21. พึงตั้งความคิดว่า เราจะทำให้ศิษย์มีกำลังด้วยการศึกษา 22. พึงตั้งเมตตาจิต 23. พึงไม่ละทิ้งศิษย์เมื่อคราวมีอันตราย 24. พึงไม่หลงลืมในกิจที่พึงทำ 25.พึงประคับประคองศิษย์โดยธรรม เมื่อศิษย์พลั้งพลาด ยี่สิบห้าประการนี้ คือสิ่งที่เรียกว่า ‘อาจาริยคุณ’......................... ข้อความเหล่านี้ ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมทางพุทธศาสนา ที่มีชื่อว่า มิลินทปัญหา ซึ่งอาจารย์ของผม ผู้มีนามว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นคนที่แนะนำให้ผมไปหาข้อเขียนเหล่านี้มาอ่าน โดยให้ความรู้เบื้องต้นว่า ในวรรณกรรมเรื่องนี้ (ที่ผู้แปลบางท่านใช้ศัพท์บาลีเรียกว่า “ปกรณ์” ก็มีนั้น) มีรายละเอียดเรื่อง ครู กับ ศิษย์ ที่ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าชื่อพระนาคเสน ได้บอกกับคนมีปัญญา(ซึ่งช่างซัก)ชื่อพระยามิลินท์ ไว้ตั้งแต่เมื่อสองพันปีที่ผ่านมา ก่อนอื่นขอยึดถือธรรมะเรื่องกตัญญูกตเวทิตา ขอบคุณเจ้าของสำนวนที่ผมนำมากล่าวอ้าง ว่า ข้อความที่ผมนำมาอ้างถึงนี้มาจาก หนังสือมิลินทปัญหา ฉบับที่แปลจากต้นฉบับภาษาพม่าโดยท่านไชยวัฒน์ กปิลกาญจน์เป็นผู้แปล และมูลนิธิปราณี สำเริงราชย์จัดพิมพ์เผยแพร่ เป็นธรรมทานไว้ตั้งแต่เมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๕ ไม่น้อยกว่ายี่สิบปีมาแล้ว ซึ่งดูเหมือนจะเป็นช่วงหลังจากที่ ‘อาจารย์คึกฤทธ์’ของผมตายจากโลกนี้ไปแล้วไม่นาน วันครู ทำให้ผมคิดถึงพ่อของผมซึ่งเป็นครูโดยอาชีพ, คิดถึงครูทั้งปัจจุบันและอดีต, คิดถึงเรื่องการศึกษาในปัจจุบันนี้, คิดถึงเรื่องของเด็กยุคปัจจุบันที่แตกต่างมากจากยุคอดีตมากกก, คิดถึงคำสอนของครูทั้งหลายในชีวิตของผม และในที่สุดคิดถึง ‘อาจารย์คึกฤทธิ์’ ครูที่ทำหน้าที่อาจารย์ให้ศิษย์อย่างผมเห็น ได้มากกว่าคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าจะวัดจากข้อความในวรรณกรรมมิลินทปัญหา ที่ผมอ้างถึงมา อาจารย์คึกฤทธิ์ เป็นครูที่เตือนสติผมเสมอว่า คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เรียนรู้แล้วต้องปฏิบัติด้วยจึงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนรู้ แต่ถ้าจะเอาแค่ฟัง-คิด-ถาม-เขียน เพื่อให้เกิดความเท่ในการเรียนรู้ แล้วตนเองไม่ปฏิบัติ หรือสอนแต่ให้เชื่อกันโดยไม่สอนเน้นถึงความมีเหตุเป็นผล พุทธศาสนาก็จะไม่มีประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ หรือไม่ก็จะมีแต่ความวุ่นวาย ให้คนที่นิยมมองแง่ลบ กล่าวหาหรือจ้วงจาบอยู่ในปัจจุบัน เรามีอาจารย์เกลื่อนเมืองกันอยู่ทุกวันนี้ ตั้งแต่วันที่ผมพูดคุยกับอาจารย์ของผมมาจนถึงขณะนี้ ก็ยิ่งมีเพิ่มขึ้น แต่เราจะหาครูที่สอนคนแล้วปฏิบัติด้วย หรือทำหน้าที่เหมือนอย่างที่ผู้รู้ในอดีตท่านสอนไว้ด้วย ได้น้อยมาก นี่คือส่วนหนึ่งในปัญหา ของปัญหาการศึกษาหรือปัญหาเรื่องการเรียนการสอนของไทยในปัจจุบัน ถ้าเรารักที่จะอ่าน-แล้วคิด-คิดแล้วนำไปปฏิบัติ ในอาจาริยคุณ๒๕ประการนี้ จะมีวิธีปฏิบัติที่ปรากฏอยู่ในทฤษฎีใหม่ๆเท่ๆที่ฝรั่งยุคปัจจุบันคิดกันอยู่ไม่น้อยในเรื่องของการปฏิรูปการเรียนการสอน ถ้าผู้อ่านหรือผู้สอนจะมีความรู้(จากการอ่าน)ที่กว้างขวาง หรือได้รับการแนะนำที่ดี ของเก่าบางอย่างนั้นยังมีประโยชน์ ถ้าเรารู้จัก “คิด(ใหม่)ให้เข้ากับยุค-แล้วทำใหม่-หรือนำมาสร้างคุณค่าใหม่-ก่อนที่จะนำมาใช้ใหม่” นั่นเป็นการคิดที่น่าจะใช้ให้เป็นประโยชน์แก่คนและธรรมชาติได้ในโลกยุคปัจจุบัน ผมจึงอยากเชิญชวนว่า ในสัปดาห์หน้า เรามาอ่าน‘อาจาริยคุณ25ประการ’นี้กันอีกครั้ง แล้วคิดร่วมกันไปทีละข้อ (ว่าควรปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติกันอย่างไรแค่ไหน) เพื่อยก ‘ครู’ให้เทียบเท่า ‘อาจารย์’ได้ อย่างที่ผู้รู้ในอดีตท่านสอนไว้ ดีไหมครับ?