ไม่มีอะไรที่เกินไปจากความคาดหมาย ว่าที่สุดแล้วงานนี้ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะก้าวขึ้นเป็น “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 8” แม้จุรินทร์ เองจะต้องฝ่าฟันลงสนามประลองกับอีก 3 แคนดิเดตที่ท้าชิง ทว่าที่สุดแล้ว “คำตอบสุดท้าย”ได้ถูกกำหนดเอาไว้อยู่แล้วว่างานนี้ จุรินทร์ จะแพ้ไม่ได้ จะต้องเดินหน้าทำภารกิจให้ลุล่วง นั่นคือการเอาชนะศึกชิงหัวหน้าพรรคอันดับที่ 8 เพราะอย่าลืมว่า ชัยชนะของจุรินทร์ คือภาพสะท้อนที่เชื่อมโยงกับ ชัยชนะของ “ขั้วอำนาจเก่า” ในพรรคที่มี “ชวน หลีกภัย”ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค , บัญญัติ บรรทัดฐาน และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคคนที่ 7 ยืนอยู่เบื้องหลังอีกด้วย แน่นอนว่า “ภาคต่อ”หลังจากนี้ไป ทุกสายตาย่อมจับจ้องไปยัง “ท่าที” ของพรรคประชาธิปัตย์ว่าที่สุดแล้ว จะประกาศจุดยืนเข้าร่วมรัฐบาลกับ “พรรคพลังประชารัฐ” หรือไม่ เพราะนี่คือไฮไลต์ที่ทุกขั้วการเมืองต่างรอคำตอบ ก่อนหน้านี้ในท่ามกลางข่าวลือ และการคาดหมาย ด้วยกันในหลายทาง ว่า หากหัวหน้าพรรคคนใหม่ของประชาธิปัตย์ ตกเป็นของ “ขั้วถาวร เสนเนียม” ที่มีความเชื่อมโยงกับ “การเมืองนอกพรรค” ไม่ว่าจะเป็น “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่ประกาศตัวหนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้กลับมาเป็น “นายกฯรอบสอง” รวมถึงกระแสข่าวที่สะพัดว่า “แกนนำพลังประชารัฐ ” ไปจนถึง “บิ๊กคสช.” ต่างพยายาม “ต่อสาย” มายังคนในพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะสายของถาวร เพื่อหยิบยื่น “ข้อเสนอ” ให้กลุ่มถาวร ยึดพรรค ผ่านวาระการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ให้ได้ โดยผ่านทั้ง “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” และ “กรณ์ จาติกวณิช” 2 แคนดิเดต จนทำให้ ชวน ต้องออกโรงมาปรามด้วยตัวเองหลายต่อหลายครั้ง ว่าไม่ต้องการให้ “การเมืองนอกพรรค” เข้ามาแทรกแซงเรื่องในพรรค แต่วันนี้ เมื่อชัดเจนแล้วว่า ขั้วของนายหัวชวน ที่ส่งจุรินทร์ ลงสนามรบ นั้น “ชนะขาด” อาจทำให้พรรคพลังประชารัฐ อยู่ในสภาพที่อัดอึดไม่น้อย เพราะโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์ อาจจะไม่เข้าร่วมรัฐบาลนั้นยิ่งเป็นไปได้สูง เช่นเดียวกับท่าทีของ “พรรคภูมิใจไทย” เองที่มี “51เสียง” อยู่ในมือต่างรอดูท่าทีจากพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะกำหนดทิศทาง ทางการเมืองเช่นใด นาทีนี้ ทุกความเป็นไปที่เกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ กำลังตอกย้ำและสะท้อนให้เห็นว่าขั้วอำนาจของนายหัวชวน สามารถพลิกกลับมายึดพรรคคืน ผ่านวาระการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ตลอดจนการยึด กรรมการบริหารพรรค และจากนี้ไปอาจจะเป็นนาทีของการ “แก้มือ” สำหรับประชาธิปัตย์เพื่อเตรียมรับกับ “ศึกการเมือง” ครั้งใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเลือก “ผู้ว่าฯกทม.” ,การเมืองสนามเล็ก หรือแม้แต่การเลือกตั้งครั้งหน้า ที่อาจจะมาเร็วกว่าที่คิด !