พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ เมื่อปี 2556 นายเจษฎา กตเวทิน ซึ่งดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ของรัฐไทย ประจำเมืองลอสแองเจลิสในเวลานั้น ได้ประสานให้นาย Tom LaBonge สมาชิกสภาเมืองลอสแองเจลิส (L.A. city council) เขต 4 และประธานองค์กรบ้านพี่เมืองน้องของเมืองลอสแองเจลิส และคณะไปเยือนเมืองไทย ถ้าจำไม่ผิดในปีเดียวกันนั้นน่าจะเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม การเดินทางไปเยือนไทยครั้งดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์และหารือถึงแนวทางการส่งเสริมความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและเมืองลอสแองเจลิส นายเจษฎาแถลงข่าวผ่านเอกสารของสถานกงสุลไทย เมืองลอสแองเจลิสในตอนนั้นว่า ปี 2556 จะนับเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบความสัมพันธ์ 180 ปี ไทย-สหรัฐฯ ผมเองแสดงความยินดีกับนายเจษฎาและคณะที่ประสานงานจนเกิดการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯขึ้นมาในคราวนั้นได้ ไม่ว่ามันจะเป็นวาระครบรอบความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯกี่ปีกี่รอบก็ตามแต่ เพราะว่ากันตามที่จริงแล้วไม่ว่าจะครบรอบกี่ปีของความสัมพันธ์ก็ตาม ความสำคัญของสหรัฐฯต่อเมืองไทยและต่อโลกยังคงมีอยู่ต่อไป ไม่ว่าอเมริกันจะมีผู้นำคนใด พรรคไหนก็ตาม หรือแม้ตอนนี้ที่ร่องรอยของความสัมพันธ์ดังกล่าวจะถูกนายดอน ปรมัตถ์วินัย ในฐานะอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาลืมเลือนไปมากก็ตาม เมื่อเขารับตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ขอแยกความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ คือ หนึ่ง ความสัมพันธ์เชิงความมั่งคงและความปลอดภัยในภูมิภาคที่สหรัฐฯ มีบทบาทต่อไทย สอง ความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจ หรือการทำมาค้าขายระหว่าง 2 ประเทศ และ สาม ความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมระหว่าง 2 ประเทศ ในส่วนของระดับความสัมพันธ์ ยังแยกออกเป็น 3 ส่วน คือ (1) ส่วนของรัฐบาลกลางของไทยกับรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ (2) ส่วนของรัฐบาลท้องถิ่นของสหรัฐฯกับส่วนงานองค์กรปกครองท้องถิ่นของไทย และ (3) ส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรหรือสถาบันเอกชนไทยกับเอกชนของสหรัฐฯ เมื่อแยกความสัมพันธ์ในลักษณะต่างๆ ออกมาก็ทำให้เห็นภาพของความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯชัดเจนมากยิ่งขึ้นไม่ว่าการเมืองของอเมริกันหรือของไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม การไปเยือนไทยของนาย Tom La Bonge และคณะที่ประกอบไปด้วยคนไทย-อเมริกันร่วมคณะไปด้วยคราวนั้น หากดูจากวัตถุประสงค์ของการเดินทางในตอนนั้นแล้ว ส่วนหนึ่งจัดเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง(ระดับ)องค์กรส่วนท้องถิ่นคือ กรุงเทพมหานครกับสภาเมืองลอสแองเจลิส ซึ่งเป็นเมืองที่คนไทยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากที่สุด (เพียงแต่ไม่ทราบว่าเป็นจำนวนเท่าไรโดยตัวเลขที่แท้จริง เพราะสถานกงสุลไทย กระทรวงการต่างประเทศ ไม่เคยสำรวจและไม่เคยยืนยันถึงเรื่องนี้ รวมถึงไม่ได้แสดงเจตนาที่จะเอื้อเฟื้ออำนวยความสะดวกเช่นการสำรวจ วิจัยอย่างจริงจัง เกี่ยวกับปัญหาแรงงานไทยในอเมริกาอย่างแท้จริง (ขณะที่แรงงานเหล่านี้ คือ ผู้ที่ส่งเงินกลับเมืองไทยไม่แพ้แรงงานจากตะวันออกกลางหรือแรงงานในต่างประเทศ ในประเทศอื่นๆ) อีกแง่หนึ่ง อาจมองการไปเยือนเมืองไทยของนายTom LaBonge ในครั้งนั้นได้ว่า เป็นการเยือนเพื่อวัตถุประสงค์ด้านวัฒนธรรมเป็นหลัก โดยมีวัตถุประสงค์ด้านเศรษฐกิจร่วมด้วย ซึ่งเมื่อดูจากกำหนดการของแขกบ้านแขกเมืองจากแอล.เอ.แล้ว มีการหารือเรื่องการพัฒนาไทยทาวน์รวมอยู่ด้วย เพราะนาย LaBonge ได้พบกับผู้บริหารของบริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ ที่มาประกอบธุรกิจเบียร์อยู่ในอเมริกาในช่วงการเดินทางดังกล่าวด้วย ไฮไลท์สำคัญของการเดินทางไปเมืองไทยครั้งนั้น นายเจษฎา บอกว่า นาย LaBonge และคณะเข้าเยี่ยมคารวะผู้บริหารระดับสูงของกรุงเทพมหานคร ซึ่งก็คือ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่ากรุงเทพมหานครในขณะนั้น และ นายพิพัฒน์ ลาภปรารถนา ประธานสภากรุงเทพมหานคร ทั้งในช่วงการเยือนดังกล่าว ยังเป็นโอกาสอันดีที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยมีกำหนดจัดงานฉลองครบรอบความสัมพันธ์ 180 ปี ไทย/สหรัฐฯ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นาย LaBonge และคณะได้รับเชิญข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย สื่อท้องถิ่นภาษาไทยฉบับหนึ่งที่แอล.เอ. ตีข่าวในตอนนั้นว่า “จุดเด่นของการเยือนกรุงเทพฯเป็นการลงนามใน ‘ความตกลงมิตรภาพระหว่าง สภานครลอสแอนเจลิสและสภากรุงเทพมหานคร’ (Friendship Resolution between the City Council of Los Angeles and Bangkok Metropolitan Council) ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยมีประธานสภากรุงเทพมหานครเป็นผู้ลงนามของฝ่ายไทย และมีนายเจษฎา กตเวทิน กงสุลใหญ่ฯ ร่วมเป็นสักขีพยาน” ทำให้เห็นภาพอย่างชัดเจนมากขึ้นว่า การเดินทางครั้งนั้น เพื่อวัตถุประสงค์ด้านวัฒนธรรมมากกว่าอย่างอื่น โดยเป็นการประสานงานด้านวัฒนธรรมในระดับท้องถิ่นกับท้องถิ่นโดยตรง ไม่ผ่านรัฐบาลกลาง ความพยายามให้กรุงเทพมหานครกับเมืองลอสแองเจลิส กลายเป็นบ้านพี่เมืองน้อง(Sister cities) ถือเป็นเรื่องดีและควรสนับสนุน เพราะที่ผ่านมาได้มีกลุ่มคนไทยหลายกลุ่มจากหลายเมืองในอเมริกาพยายามทำเรื่อง “บ้านพี่เมืองน้อง” แต่ก็ยังไม่สำเร็จ เช่น ความพยายามของเมืองภูเก็ตกับเมืองลาสเวกัสเมื่อหลายปีมาแล้ว เป็นต้น หากกรุงเทพมหานครกับแอล.เอ. ประสบความสำเร็จในการลงนามความตกลงมิตรภาพต่อกัน ก็จะถือเป็นโมเดลในการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรท้องถิ่นของไทยกับองค์กรท้องถิ่นของสหรัฐฯในครั้งต่อๆ ไป สามารถขยายไปถึงความสัมพันธ์ในระดับเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ใดก็ได้ ย่อมแสวงหาความตกลงพันธมิตรกับเทศบาล(Cities) ในรัฐต่างๆ ในอเมริกาได้ เพราะในอเมริกากิจกรรมทางการเมืองในทุกระดับดำเนินการโดยประชาชน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความตกลงเชิงมิตรภาพ ก็ต้องมีเนื้อหาสาระและการปฏิบัติด้านความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน มิใช่การมุ่ง “สร้างภาพ” ของความสัมพันธ์เพียงชั่วครู่ชั่วยาม โดยฐานของการเคารพซึ่งกันและกันระหว่างชุมชนทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งจะทำให้ประชาชนทั้งสองประเทศไปหาหาสู่ติดต่อธุรกิจกันสะดวกมากขึ้นในโลกสมัยใหม่ มิใช่เป็นความสัมพันธ์ที่ด้านชาเช่นปัจจุบัน เพราะองค์กรท้องถิ่น หมายถึง ประชาธิปไตยที่คนอเมริกันและชาวโลกยอมรับอยู่แล้ว จึงถือว่า การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรท้องถิ่นเป็นเรื่องดี เพราะอย่างน้อยการเดินทางในครั้งนั้น มีคน อย่างนางชัญชนิฐ มาเทอร์เรลล์ หรือ “แจนซี่” ผอ.ศูนย์พัฒนาชาวไทย (Thai CDC) รวมอยู่ด้วย ผลที่ได้อย่างน้อย ก็น่าจะเกินไปกว่า “ดราม่าทางวัฒนธรรม” ที่ยังนิยมกระทำกันอยู่มากทั้งในบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐของไทยและเอกชนไทยบางรายในอเมริกา ซึ่งว่าตามจริงแล้ว ส่วนที่ทำกันก็เป็นธุรกิจเสียด้วยซ้ำ เหมือนกับโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทย-สหรัฐอีกจำนวนมากในหลายรัฐทีกลายเป็นธุรกิจไปเรียบร้อยตั้งนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในชั้นเยาวชน หรือในชั้นผู้ใหญ่ก็ตาม เพราะวัฒนธรรมก็เหมือนของสินค้าชนิดหนึ่ง คือ ขายได้ ดังที่เห็นๆ อยู่ทุกวันนี้ ซึ่งเป็นการแสดง (จำอวด) ทางวัฒนธรรม เหมือนการแสดงละคร แต่จิตวิญญาณจริงๆไม่รู้ไปอยู่ไหนตั้งนานแล้ว วัฒนธรรมในแบบแผนของโลกสมัยใหม่ มันจึงเท่ากับเป็น “โชว์” อย่างหนึ่ง ไปโดยปริยาย เกิดเป็นดราม่าทางวัฒนธรรม มากกว่าที่จะแสดงถึงอัตลักษณ์ที่แท้จริงของตนเองหรือชุมชน เพราะอย่างไรเสีย ก็ต้องยอมรับกันว่า คนไทย คือ ชาติพันธุ์กลุ่มน้อยในอเมริกา เพราะจะให้คนอเมริกันหันมาพูดภาษาไทยกันค่อนประเทศคงไม่ทาง “โครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม” ซึ่งเหตุผลที่แท้จริงแล้ว กลับอยู่ที่ประเด็นและเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่อย่างว่าแหละครับ “Nothing for free” เพราะแม้กระทั่งบริษัทคนไทยที่สนับสนุนทางด้านวัฒนธรรมไทยในไทยทาวน์แอล.เอ.เขาก็ต้องลงทุน รัฐบาลไทยเองก็ต้องลงทุน ไม่ว่าจะเป็นที่ลอสแองเจลิสหรือที่กรุงเทพฯก็ตาม ใจความสำคัญของเรื่องนี้คือ หากให้ภาคประชาชนในระดับเมือง (cities) ของทั้งสองประเทศทำ ก็น่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบยั่งยืนมากกว่าการดำเนินการโดยรัฐทำแต่เพียงฝ่ายเดียว เพียงแต่ฝ่ายรัฐต้องให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่.