แม้จะมีความชัดเจนในจำนวนที่นั่งส.ส.ระบบเขตเลือกตั้ง ว่า “พรรคเพื่อไทย” ยังคงเป็นพรรคการเมืองที่ได้ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งนี้มากเป็นอันดับ 1 คือ 136 ที่นั่ง ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งส.ส.อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมาไปเรียบร้อยแล้ว
ทว่าการเป็น “พรรคอันดับ1” สำหรับเพื่อไทย ในยามนี้ แทบไม่มีความหวังใด ที่จะได้เดินไปสู่อำนาจฝ่ายบริหาร ในฐานะ “พรรคแกนนำรัฐบาล” แต่อย่างใด
ขณะที่ความคึกคักในการจับมือจัดตั้งรัฐบาล ทางฟากฝั่ง “พรรคพลังประชารัฐ” ที่ได้ส.ส.เป็นพรรคอันดับ 2 โดยกวาดส.ส.เข้าสภาผู้แทนราษฎร ได้ 97 ที่นั่ง กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
พร้อมทั้งการที่ “แกนนำ” พรรคพลังประชารัฐ ต่างพากันแสดงความมั่นอกมั่นใจว่าถึงอย่างไร ภารกิจที่วางเอาไว้ตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง 24 มี.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
นั่นคือ พรรคพลังประชารัฐ จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับ พรรคแนวร่วมตามสูตรเดิม อันประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรครวมพลังประชาชาติไทย และยังรอการตัดสินใจจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า “ไม่น่าจะมีอะไรผิดแผน”
กลับมาที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ที่นำโดย พรรคเพื่อไทย และ “พรรคพันธมิตร” ทั้ง พรรคอนาคตใหม่ที่ได้ 30 ที่นั่ง แม้นาทีนี้ กกต. จะใช้วิธีการประกาศรับรองไปก่อน แล้วไปตามสอยในภายหลังก็ยิ่งไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองในขั้วนี้สบายอกสบายใจ หายใจได้ทั่วท้องแต่อย่างใด
เพราะ “ผลชี้ขาด” ชัยชนะสำหรับ ฝ่าย “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือคสช. นั้นย่อมไม่ได้หวังที่จะพึ่งพาเพียง ส.ส.ในสนามเลือกตั้ง เป็นหลักเท่านั้น
ไม่เช่นนั้นแล้ว ตลอดห้วงสัปดาห์นี้คงไม่เกิดสถานการณ์ที่ “รัฐมนตรี” ในครม. ของ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. พากันยื่นหนังสือลาออกเพื่อเปลี่ยน “สถานะ” จากฝ่ายบริหารที่ทำเนียบรัฐบาล แล้วย้ายไปนั่ง “สภาสูง” ในฐานะ “สมาชิกวุฒิสภา” นับกว่า 10รายอย่างที่เห็น
รวมทั้งยังมี “ข้าราชการระดับสูง” ในบางกระทรวง ได้ยื่นใบลาออกเพื่อเตรียมตัวไปทำหน้าที่ส.ว.ในรอบนี้ด้วยเช่นกัน
นั่นหมายความว่า ขณะที่ฟากคสช.มีกองกำลังในมือทั้งส.ส.จากสนามเลือกตั้ง เกินกว่า 251 เสียงตามความมั่นใจที่ได้ประกาศต่อสาธารณะแล้ว ยังมีกองหนุนจากสมาชิกสว.ที่จะทำหน้าที่โหวตหนุนพล.อ.ประยุทธ์ ในเวทีรัฐสภาอีกชั้นหนึ่ง
แต่สำหรับพรรคเพื่อไทยเองเวลานี้ดูเหมือนว่าจะอยู่ในสภาพ “เสือลำบาก” เพราะแม้จะได้ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่ง แต่กลับเดินไปไม่ถึง ฝ่ายบริหาร อีกทั้งยังต้องไม่ลืมว่าจากนี้ไป ราว 1ปี ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย จะถูก “สอย” อีกเท่าใด หากกกต.พบว่ามีการกระทำความผิดจริง
ทั้งนี้ยังต้องไม่ลืมว่า ก่อนการลงสนามเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยเองรู้ดีว่าตนเองนั้นมี “เดิมพันสูง” เพราะไม่เพียงแต่จะต้อง “สู้เพื่อชนะ” เท่านั้น เพราะผลออกมาในทางที่เป็น “ลบ” อาจจะไม่ได้แค่กระทบเฉพาะคนในพรรคเพื่อไทยเท่านั้น หากแต่วันนี้ พรรคเพื่อไทยยังเป็นเสมือน “มรดกทางการเมือง” ชิ้นสุดท้าย ของคนที่อยู่ต่างประเทศ ในฐานะ “เจ้าของพรรคตัวจริง” ที่อาจจะไม่เหลือ เครื่องมือใดๆเอาไว้เพื่อต่อสู้ทางการเมืองได้อีกหรือไม่ ?!