รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต “การเลือกตั้ง เมื่อ 24 มี.ค.62” ที่ผ่านมา ถือเป็นกิจกรรมการเมืองที่เข้ามาพร้อม “ความคาดหวังใหม่ๆ” ที่ใครต่อใครต่างคาดหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของ “การเมืองใหม่” (ที่ดีกว่าเก่า) ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ การเปลี่ยนแปลงด้านขั้วอำนาจทางการเมือง หรือแม้แต่รัฐบาล จนอาจกล่าวได้ว่า เลือกตั้ง 24 มี.ค.62 ต้องแบกรับ “ความคาดหวังทางการเมือง” ของ “คนไทย” ค่อนข้างมาก คำว่า “ความคาดหวัง” (Expectancy) นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ได้ให้ความหมายไว้หลากหลาย ซึ่งสามารถสรุปได้ว่าความคาดหวัง คือ ความรู้สึกนึกคิด หรือความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาณเกี่ยวกับความคาดคะเน หรือการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าควรจะมี ควรจะเป็น ควรจะเกิดขึ้น หรือว่าควรจะเปลี่ยนแปลงตามความจำเป็น ซึ่งบุคคลแต่ละคนจะมีความคาดหวังที่แตกต่างกัน เนื่องจากแต่ละบุคคลมีประสบการณ์เดิมที่ต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามบุคคลต่างรับรู้ความเป็นไปได้ว่าหากมีความพยายาม เพิ่มขึ้น จะนำไปสู่ผลงานที่ดีขึ้น ความสำคัญของ “ความคาดหวัง” นั้น คงหนีไม่พ้นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการกระทำความเชื่อ ทัศนคติ ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบของมนุษย์ โดยนอกจากความคาดหวังจะมีผลต่อผลงานที่เกิดขึ้น คือ บุคคลจะมีพฤติกรรมอย่างไรขึ้นอยู่กับความเชื่อเกี่ยวกับความคาดหวังในใจและเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นตามมาแล้ว ความคาดหวังต่อการตอบสนองต่อผลงานที่จะเกิดขึ้นนั้น ยังมีผลต่อความพึงพอใจมากน้อยตามการสนองตอบที่ได้รับอีกด้วย หากจะอธิบายทฤษฎีที่กล่าวไว้ในข้างต้นให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะในประเด็น “ความคาดหวังด้านการเมือง : กรณีการเลือกตั้ง 24 มี.ค.62” คงต้องเปรียบเทียบกับกรณีศึกษา ดังต่อไปนี้ เมื่อสังคมมีความคาดหวังว่าต่อการเลือกตั้งที่ผ่านมาในระดับสูง ย่อมส่งผลให้ กกต. ที่มีหน้าที่หลักเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งฯ จำเป็นต้องทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้การเลือกตั้งมีความโปร่งใส บริสุทธิ์ยุติธรรม ตลอดจนตอบสนองความต้องการของสังคม ซึ่งหาก กกต. ทำหน้าที่ได้ดี ย่อมทำให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจ แต่หาก กกต. ไม่สามารถทำได้อย่างที่ประชาชนคาดหวัง ก็ย่อมส่งผลต่อความไม่พึงพอใจในที่สุด จากการที่ กกต.ยืนยันจะประกาศผลรับรองส.ส.ในวันที่ 7 – 8 พ.ค. เพื่อให้แล้วเสร็จตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ภายในกรอบ 150 วัน ถือเป็นสิ่งที่ได้รับการจับตามอง และวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างกว้างขวาง เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่สนใจติดตามข่าวการเมือง “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กรณี ความคาดหวังของประชาชนต่อการรับรองผลการเลือกตั้งส.ส.ของ กกต. จำนวนทั้งสิ้น 1,239 คน สรุปผลได้ ดังนี้ หลัง จากที่มีการเลือกตั้งแล้ว สิ่งที่ประชาชนวิตกกังวล กลัวว่าจะไม่สมหวังจาก กกต. คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ43.15 คือ ทำหน้าที่บกพร่อง ผิดพลาด ไม่โปร่งใส ผลคะแนนไม่ชัดเจน รองลงมา ได้แก่ การประกาศผลไม่น่าเชื่อถือ ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ร้อยละ41.09 และการใช้สูตรคำนวณที่นั่ง ส.ส. ไม่ได้รับการยอมรับ ร้อยละ25.98 ประชาชนคิดว่าความวุ่นวายทางการเมือง หลังวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 น่าจะเป็นอย่างไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ45.20 คือ ยังคงวุ่นวายเหมือนเดิม เพราะการเมืองไทยยังมีความขัดแย้ง โจมตีกันไปมา การแก่งแย่งอำนาจและผลประโยชน์มีอยู่ตลอด ฯลฯ รองลงมา ได้แก่ น่าจะวุ่นวายมากขึ้น ร้อยละ36.56 เพราะกฎหมายไทยยังมีช่องโหว่ การบังคับใช้ไม่เป็นธรรม สองมาตรฐาน ทำให้เกิดการต่อต้าน การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการแข่งขันดุเดือด รุนแรง ทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น ฯลฯ และน่าจะวุ่นวายลดลง ร้อยละ18.24 เพราะกกต.สามารถแก้ปัญหาต่างๆให้คลี่คลาย ดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ กำลังจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ฯลฯ สิ่งที่ประชาชนอยากเห็น “การเมืองไทย” หลังวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ39.27 คือ ความสามัคคีปรองดอง ร่วมมือร่วมใจกันทำงาน รองลงมา ได้แก่ การเมืองมีเสถียรภาพ เป็นประชาธิปไตย ร้อยละ32.23 การบริหารประเทศให้เจริญก้าวหน้า ร้อยละ23.37 การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ร้อยละ17.50 และมีการตรวจสอบ คานอำนาจจากฝ่ายค้านและภาคประชาชน ร้อยละ11.10 เมื่อวิเคราะห์สิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากการทำหน้าที่ของ กกต. ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าประชาชน มีความคาดหวังสูงต่อการทำหน้าที่ของ กกต. ซึ่งที่ผ่านมาแม้การทำหน้าที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก แต่ก็เชื่อว่า กกต.ทุกท่านต่างทำหน้าที่ด้วยความตั้งใจจริงอย่างเต็มความรู้ความสามารถแน่นอน สุดท้ายก็ถึงบทสรุปที่ว่าการ “ผิดหวัง” หรือ “สมหวัง” ประเด็นความคาดหวังกรณีการรับรองผลการเลือกตั้งฯ ของ กกต. จะเกิดขึ้นในรูปแบบใดนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำหน้าที่ของ กกต.เท่านั้น แต่เกิดขึ้นจากการเปิดใจยอมรับในความตั้งใจทำงาน ตลอดจนบริบททางการเมืองของสังคมไทย ณ วันนี้ ซึ่งต้องรับว่าทำให้ กกต. ทำหน้าที่ยากจริง..!! สังคมไทยจะ “ผิดหวัง” หรือ “สมหวัง” ต่อการทำหน้าที่ของ กกต. เชื่อว่าหลัง 9 พ.ค. นี้ ได้รู้กันแน่นอน..!!