แสงไทย เค้าภูไทย คำว่านายกฯ คนนอก มีการกล่าวขานกันหนาหูขึ้น เพราะมองกันว่า ผลการเลือกตั้งที่คะแนนเสียงของฝ่ายตรงกันข้ามสองขั้วก้ำกึ่งกันเป็นเงื่อนตาย แก้ด้วยกฎกติกาการเมือง หรือระบบสภาไม่ได้ จึงมีทั้งข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติ และทูลขอนายกฯ พระราชทานมาแก้สุญญากาศ นายกรัฐมนตรึคนนอก และนายกฯพระราชทานประเทศไทยเคยมีแล้ว แต่รัฐบาลแห่งชาติยังไม่เคยมี รัฐบาลแห่งชาตินััน ในสถานการณ์สงคราม หรือบ้านเมืองถึงจุดวิกฤต พรรคคู่แข่ง คู่กัดในสภาผู้แทนราษฎร จะร่วมมือกัน อย่างเช่นสหรัฐฯนั้น มีหลายพรรคก็จริง แต่มีพรรคใหญ่ชี้ขาดแค่ 2 พรรคเท่านั้น การตั้งรัฐบาลแห่งชาติหรืองลงมติสำคัญๆเพื่อให้พ้นวิกฤต จึงเรียกว่า biparitsan หมายถึง “two political parties agreement or cooperation” แม้จะมีความห่วงใยในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลว่า รัฐบาลจะยื้อเวลาเพื่อถ่วงอายุการสิ้นสุดสภาพคสช. แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศว่า จะมีการจัดตั้งรัฐบาลได้แน่นอนภายในเดือนมิถุนายน การสิ้นสุดสถานภาพของ คสช.ก็จะมีขึ้นเมื่อมีรัฐบาลใหม่ จบงาน พระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างสมพระเกียรติ ครั้งนี้ ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงสมควรจะเก็บไว้เป็นเกียรติยศแห่งวงษ์ตระกูล และทิ้งไว้เป็นความทรงจำล้ำค่าของคนไทยทั้งมวล จึงถึงเวลาที่จะจากไปอย่างสุภาพบุรุษผู้สง่าผ่าเผย ไม่ควรสืบทอดอำนาจและกลับไปสู่วังวนแห่งความเสื่อมถอยที่ลูกน้องและคนแวดล้อมสร้างขึ้นอีก หากเป็นไปตามที่นายกฯให้สัมภาษณ์ ภายในไม่เกิน 50 วันนับจากนี้ ประเทศไทยจะมีรัฐบาลใหม่มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ไม่ว่าจะได้จากพรรคการเมืองที่ได้เสนอตัวนายกฯเอาไว้หรือได้จากคนนอก การที่พรรคพปชร.ที่ชู พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่พรรคที่ได้คะแนนเสียง ส.ส.เขตมากที่สุด ทำให้ต้องพยายามใช้กลไก กกต.ทำให้ได้คะแนนพรรคหรือพาร์ตี้ลิสต์เพื่อผลต่อจำนวนส.ส.มากพอที่จะไปรวมกับ คะแนนเสียง ส.ว. 250 คนโหวตเลือกนายกฯและจัดตั้งรัฐบาล แต่กระน้ันก็ยังมีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะเงื่อนตายที่ผูกไว้เพื่อสกัดพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรไม่แน่นพอที่จะทำให้สัมฤทธิผล การประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ 7 หรือ 8 พ.ค.นี้จึงอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งถึงขั้นมวลชนเคลื่อนไหว การตัดสิทธ์ ว่าที่ ส.ส.ขาดคุณสมบติ การเลือกตั้งใหม่หลายเขต การนับคะแนนใหม่อย่างมีเงื่อนงำ การไม่กล้าตัดสินใจใช้สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ฯลฯ ล้วนเป็นเชื้อไฟพร้อมประทุ เพราะประชาชนที่สนับสนุนพรรคที่อยู่ตรงข้ามกับพรรค พปชร.เห็นว่า พรรคที่พวกเขาสนับสนุนถูกเอารัดเอาเปรียบมากเกินไปแล้ว โดยเฉพาะการออกแบบการเลือกตั้ง ตั้งกติกาต่างๆ ที่มีรัฐธรรมนูญ ซึ่ง คสช.อำนวยการร่างขึ้นมาเองเป็นแม่บท การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คนมีสิทธิ์ร่วมโหวตตัวนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. นั่นหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ได้คะแนนเสียงฟรีๆ 250 คนแล้ว ขณะที่พรรคคู่แข่ง ต้องได้จากการเลือกตั้งล้วนๆกว่า 375 เสียงอันเป็นเสียงกึ่งหนึ่งของเสียง 2 สภาร่วม คือ 750 เสียง ตัวแปรที่จะชี้ว่า เสียงของฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งจะได้ถึง 376 เสียงคือจำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ถ้าตรงไปตรงมา ก็คงจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าพลิกแพลงเพื่อให้จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของซีกพปชร.เพิ่มจำนวนจนจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็น่าจะเกิดเหตุรุนแรง มีข้อเสนอจากฝ่ายเป็นกลาง ให้เอาคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่มีผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการออกมาแล้ว เพราะเห็นว่า จะเกิดสุญญากาศจนตั้งรัฐบาลกันไม่ได้ แต่ซีกหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ยังเชื่อมั่นว่า กกต.จะสามารถใช้กลไก เพิ่ม-ลดจำนวน ส.ส.ได้ โดยการเพิ่มให้ซีก พปชร. ลดฝั่งเพื่อไทย ซึ่งก็มีการปลด ส.ส.เขตของเพื่อไทยไปแล้ว 1 คน แต่จากพฤติกรรมที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนระแวงและไม่ยอมรับการทำงานของ กกต. หากผลเลือกตั้งที่ประกาศ ไม่เป็นไปตามความถูกควร แม้กติกานั้นจะเป็นกติกาที่ฝ่าย คสช.กำหนดขึ้นเองก็ตาม เกิดเรื่องแน่ จึงมีการหาทางออกด้วยการเสนอให้มี “รัฐบาลแห่งชาติ” หรือกราบบังคมทูลขอนายกฯพระราชทาน ทางออกอื่นหรืออื่นๆมีไหม ? มีมากมาย แต่ล้วนแต่จะก่อเกิดผลร้ายแรงตามมา เพราะสถานการณ์การเมืองยามนี้ กำลังจะซ้ำรอย ซ้ำรูปแบบเหตุการณ์พฤษภาฯทมิฬ เข้าไปทุกทีแล้ว